เหรียญสองด้านของการเป็น Au pair ในต่างแดน
ตั้งแต่ฝ้ายทำ blog และเปิด page “๗ ปีใต้ปีกอินทรีเหล็ก”
มาครบหนึ่งขวบปี คำถามที่ฝ้ายได้รับค่อนข้างบ่อย
นอกเหนือจากเรื่องการเรียนต่อและหางานทำในเยอรมนีแล้ว ก็จะเป็นเรื่องการมาเป็น Au
pair ที่นี่ เพื่อมาเรียนภาษาเยอรมันระหว่างที่เป็นพี่เลี้ยงเด็ก เพราะจะมีที่อยู่และได้เงินเดือน
แม้จะไม่มาก แต่ก็ดูน่าสนใจสำหรับคนที่อยากมาหาประสบการณ์ในต่างแดนสักครั้ง ซึ่งฝ้ายก็เห็นกระทู้ใน
pantip อยู่เรื่อย ๆ ที่มาบอกเล่าประสบการณ์ด้านนี้ มีทั้งดีมาก ๆ เหมือนฝัน
เพราะได้อยู่กับครอบครัวที่ร่ำรวย นิสัยดี ให้เกียรติ คนที่ทำงานด้วย ส่งผลให้ Au
pair มีโอกาสไปล่องเรือยอร์ชที่อิตาลี นั่งเครื่องบินส่วนตัวไปเที่ยวฝรั่งเศส
พักผ่อนที่ดูไบ หรือเข้าไปชมการแข่งขันของ FC Bayern ติดขอบสนาม (อภิมหากาพย์ออแพร์ ... ขอบคุณตัวเองในวันนั้น ที่ตัดสินใจมาเป็น “ออแพร์” ในวันนี้) หรือที่ก้ำ ๆ กึ่ง ๆ เช่น เด็กน่ารัก แต่นายจ้างจ่ายเงินช้า (ประสบการณ์ ครั้งหนึ่งเคยเป็นออแพร์ Aupair in Germany) หรือเด็กเป็นลูกเทวดา
แตะต้องไม่ได้ แล้วจะให้เราเลี้ยงยังไง(วะ)? (เรื่องเล่าจาก Aupair(ชาย) ที่ประเทศเยอรมัน) คือถ้าไม่คิดมาก ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต ที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นในภายภาคหน้า
แต่ blog นี้ ฝ้ายจะขอแบ่งปันเรื่องราวที่ฝ้ายไม่ได้มีประสบการณ์ตรง เพียงแค่มีบทบาทเล็ก
ๆ ในละครชีวิตบทหนึ่งของเพื่อนที่เคยเป็น Au pair ที่เยอรมนีให้ฟังค่ะ
เรื่องเริ่มขึ้นหลังจากฝ้ายมาอยู่เยอรมนีครบปีพอดี (2008) วันนั้นอยู่ ๆ อาจารย์สอนภาษาเยอรมันก็โทรเข้ามือถือ แล้วบอกว่า
“มีคนอยากแนะนำให้รู้จัก ฝ้ายอยากคุยด้วยมั้ย? เค้าเป็นคนไทยนะ”
เราก็ตื่นเต้นว่าจะมีเพื่อนคนไทยคนแรกที่มาเรียนที่ Lüneburg ว่าแล้วก็รีบแต่งตัวแล้วไปที่แผนกภาษาเยอรมันสำหรับนักเรียนต่างชาติทันที
ก็ได้รู้จัก “แอ๊ะ” โดยแอ๊ะเป็น Au pair ให้กับครอบครัวหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้
ๆ นี้ และอยากมาเรียนภาษาเยอรมันภาคฤดูร้อน เมื่อเริ่มเรียนโปรแกรมนี้
จะต้องมาเข้าเรียนทุกวันตลอดช่วงเช้า ซึ่งบางวันแอ๊ะก็โทรมาบอกว่ามาไม่ได้
หรือบางครั้งมาได้ แต่ก็ต้องรีบกลับ เราก็เข้าใจและก็ไม่ได้ติดใจอะไรมากมาย
เรื่องต่อไปนี้ จะเป็นเรื่องที่แอ๊ะเป็นคนเล่าด้วยตัวเองนะคะ
ฝ้ายแค่เกลาภาษา และเรียงลำดับเรื่องใหม่เล็กน้อย
-----
แรงจูงใจในการเป็น Au pair ที่เยอรมัน
แอ๊ะเริ่มเรียนภาษาเยอรมันตั้งแต่มัธยมปลาย
แล้วก็มาเรียนต่อในระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นลงเรียนปริญญาโท
DAF ที่มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เรียนได้ไม่ถึงเทอมก็ต้องเลิกเรียนเพราะภาษาเยอรมันอ่อนเกินไปที่จะเรียน
ทำให้เกิดแรงจูงใจเรียนภาษาเยอรมันเพิ่มเติม ทั้ง 4 ทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน ผ่านการเป็น
Au pair ซึ่งคิดในตอนนั้นว่า น่าจะเป็นวิธีที่มีโอกาสได้เรียนภาษาเยอรมัน โดยใช้งบน้อยที่สุด
รวมทั้งได้ฝึกภาษาไปในตัว ไม่ได้คำนึงถึงหรือคาดหวังเรื่องอื่นนอกเหนือจากนี้เลย
เพราะคิดว่าตรงนี้เป็นของแถม แต่ก็เตรียมใจไว้แล้วว่าพอมาถึงที่เยอรมัน ทุกอย่างคงไม่ได้สวยงามหรือมีแต่ด้านดีเสมอไป
คอยบอกตัวเองว่ายังไงก็สู้ตายแบบสวย ใส มั่นใจ ไร้สติ (นิดหน่อย) --- ขอให้ได้เรียนภาษาไม่ว่าอะไรก็ลุยลูกเดียว บวกกับน้อยใจที่ภาษาเยอรมันของเรา อ่อนเกินไปที่จะเรียนปริญญาโท
DAF ก็ยิ่งมีแรงฮึกเหิมให้ตัวเองไปเป็น Au pair อย่างเร่งด่วน
ทำไมต้องประเทศเยอรมัน?
จริง
ๆ แล้ว ประเทศออสเตรียก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในตอนนั้น นอกจากนี้ อายุในการเป็น Au
pair ของประเทศออสเตรียคือ 18-32 ปี ต่างจากประเทศเยอรมนีที่กำหนดอายุสูงสุดไว้ที่
26 ปี แล้วอายุของแอ๊ะตอนนั้นก็ประมาณ
26 พอดี แล้วคิดง่าย ๆ เอาเองว่า ตัดสินใจเลือกไปเยอรมนี เพื่อภาษาเยอรมันดีกว่า
และก็คุ้นเคยกับประเทศเยอรมนีและคนเยอรมันมากกว่าด้วยละมั้ง
แรงจูงใจท้ายสุด
น่าจะเป็นความต้องการพื้น ๆ ตามประสาวัยรุ่น (ตอนปลาย) ที่ต้องการความท้าทายแปลกใหม่
อยากเห็นอะไรใหม่ ๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์ที่แสนจะคับแคบของตัวเองให้กว้างขึ้นกว่าเดิมอีกนิดก็ยังดี
เริ่มต้นการเดินทางเป็น Au
pair กับครอบครัวที่ Kaufbeuren
แอ๊ะหาครอบครัวจาก AuPairWorld โดยครอบครัวแรกอยู่ทางใต้
แคว้น Bayern เมือง Kaufbeuren เราโทรคุยกันทางโทรศัพท์และทาง skype ก่อนถึงวันไปประมาณเดือนถึงสองเดือน
เรื่องค่าตั๋วเครื่องบิน
แอ๊ะถามคนที่มีประสบการณ์แล้ว เค้าบอกว่าจ่ายเองดีกว่า จะได้สบายตัว ไม่ต้องมีคำว่าบุญคุณมาค้ำหัวอยู่
โดยพี่แสนดีที่คอยให้คำแนะนำมาตลอด คือ “พี่กล้วย” ที่เคยเป็น Au pair แล้วเป็นนักเรียนภาษาต่อที่เยอรมัน
(ถ้าพี่กล้วยได้อ่านอยู่ก็คงจำแอ๊ะได้นะพี่) พี่กล้วยคอยให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลเชิงลึก
และให้อยู่กับความเป็นจริงในหลาย ๆ เรื่องมาก ๆ น่าเสียดายที่แอ๊ะตอนนั้นเป็นคนขี้อายซะมาก
ไม่งั้นคงจะมีโอกาสได้รู้จักพี่กล้วยคนนี้มากขึ้น
พูดถึงความขี้อาย
ซึ่งเป็นนิสัยเล็ก ๆ ที่ใคร ๆ อาจจะมีเป็นธรรมดา แต่บอกได้เลยว่า
ถ้าเราดำเนินชีวิตด้วยความขี้อายบ่อย ๆ อาจจะทำให้ตัวเราเสียโอกาสในหลาย ๆ เรื่อง
อันนี้พูดจากประสบการณ์ที่สอนเป็นบทเรียนนะคะ
ครอบครัวแรก
มีลูกสาวครึ่งไทยครึ่งเยอรมันอายุ ณ ตอนนั้น 10 ปี อยู่กับพ่อคนเดียว (อายุ 41 ปี)
ส่วนแม่อยู่อีกเมือง เพราะหย่ากันแล้ว ตัวเราคิดเอาเองว่า เด็ก 10 ขวบ โตแล้ว
และไม่มีคนอยู่ในบ้านเยอะ ดังนั้น เราน่าจะมีเวลาส่วนตัวได้มากกว่า --- ซึ่งไม่จริงอย่างแรง
เรื่องอายุเด็ก
พี่กล้วยก็ให้คำแนะนำว่า เด็กโต Au pair จะมีโอกาสมีเวลาเป็นของตัวเองมากกว่า ไม่ต้องติดแจกับเด็กตลอด
ส่วนเรื่องเค้าอยู่กับพ่อคนเดียวเนี่ย ไม่เป็นปัญหา แอ๊ะไม่กลัวหรือสนใจว่าคนอื่นจะมองว่าเรามาเป็น
Au pair ในรูปแบบที่แอบแฝงจุดประสงค์อื่นหรือเปล่า ตอบได้เลยว่า ไม่เคยคิด
ไม่อยู่ในหัวสมอง ยืนยันเป้าหมายเดิม คือ “ต้องการมาสัมผัสวัฒนธรรมและเรียนรู้ภาษา”
ที่สำคัญครอบครัวนี้ตอบรับเร็วและเริ่มคุยเป็นการเป็นงานเร็ว ไม่เผื่อเลือก ก็เลยคิดว่าครอบครัวนี้เอาจริงแน่
ส่วนเราก็มีหน้าที่ตัดสินใจเท่านั้น
แอ๊ะอยู่กับครอบครัวนี้ได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น
แล้วตัดสินใจคุยกับเค้าดี ๆ ด้วยภาษาเยอรมันของเรา ที่พยายามพูดได้ดีที่สุดในตอนนั้นว่า
“เราคงอยู่ต่อไปไม่ได้ เรารู้สึกไม่ดี เพราะอยู่มาเกือบเดือนยังไม่ได้เห็นหน้าตาของคอร์สภาษาเยอรมันในห้องเรียนเลย”
คุณพ่อเค้าฟังก็อึ้ง งง และประหลาดใจ ว่าอยู่ดี ๆ ทำไมถึงจะลาออก เพราะดูเหมือนไม่มีอะไรสะดุด
แต่เหตุผลที่ละเอียดอ่อนกว่านั้น
ยังมีอยู่ ซึ่งส่งผลให้แอ๊ะเลือกที่จะหาครอบครัวใหม่โดยด่วน หลังจากอยู่ได้ 1 เดือนเต็มคือ
1.
คุณพ่อน้องเค้าอยากจะให้เราอยู่บ้าน ดูแลลูกสาวเค้า ไม่อยากให้เราไปเรียนภาษา
2.
เรื่องงานบ้าน เค้ามีแม่บ้านมาทำอาทิตย์ละ 2 ครั้ง แต่เราก็โง่ไปช่วยแม่บ้านเค้าทำแทบทุกอย่าง
จนกระทั่ง แม่บ้านวางเงินค่าจ้างของตัวเองคืนไว้ที่โต๊ะก่อนไป ตอนนั้นไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไมจะต้องดีแสนดีแบบนั้น
ควายเรียกพี่ได้เลย แล้วครั้งหนึ่ง แม่บ้านวางเงินในซองคืนไว้ให้คุณพ่อ พร้อมเขียนจดหมายยาวมากทิ้งไว้
เนื้อหาในจดหมายจำแทบไม่ได้แล้ว แต่ได้ใจความว่า
“คุณแม่บ้านเค้าละอายแก่ใจ ถ้าเค้าจะเอาเงินค่าจ้างทำงานบ้าน
ทั้ง ๆ ที่เค้าแทบไม่ได้ทำ” --- เพราะเราแย่งเค้าทำหมด -_-
พอคุณพ่อกลับมาเห็นจดหมายพร้อมเงิน
ก็อ่านและยิ้ม พร้อมเก็บเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง เป็นแบบนี้
2-3 ครั้ง เราก็แอบคิดว่า “จริง ๆ แล้วเงินจำนวนนี้เค้าน่าจะให้เราหรือเปล่า?” แต่เค้าคงคิดว่า
ยังไงเราก็ได้เงิน Au pair อยู่แล้วละมั้ง
3.
เวลาอยู่บ้านกับน้องเค้า 2 คน คุณปู่ของน้องชอบคอยเข้ามาจับผิด คอยคุมเราเกินไป
จนเรารู้สึกอึดอัดเล็ก ๆ
4.
เวลาอยู่บ้าน คุณแม่ของน้องชอบโทรมาคุย จนถึงโทรเข้าเบอร์มือถือเราบ่อยไปจนถึงบ่อยมาก
ๆ เหมือนจะเป็นเจ้าชีวิตเรา ตอนคุยเหมือนจะหวังดี แต่จริง ๆ แล้วหึงเรา ต้องการคุมเรา
คุมถึงขนาดตอนที่เราย้ายมาครอบครัวที่ 2 แล้ว ก็ยังหาเวลาโทรมา เราก็แสนจะโง่ และอ่อนแอเอง
ที่คอยรับโทรศัพท์เค้าอยู่ได้ ในใจตอนนั้นคิดว่า “คุณแม่น้องเค้าก็ให้คำแนะนำดี
คุยดี ทำไมเราจะต้องปฏิเสธคนคุยดีแบบนี้ล่ะ?” แต่อีกด้านหนึ่งก็คิดได้อีกว่า ที่คุณปู่ต้องมาคอยคุมเรา
อาจเป็นเพราะเค้ามีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับคุณแม่คนไทยคนนี้ก็เป็นได้
5.
บ้านเค้า ถึงแม้จะใหญ่ ทันสมัยในทุก ๆ อย่างภายในบ้าน แต่คนไม่มีรถอย่างเรา จะออกไปไหน
ทำอะไร ไม่ค่อยจะสะดวก คือป้ายรถเมล์อยู่ไม่ไกล แต่รถที่ผ่านมารับมีน้อยเที่ยว --- โดยรวมแล้ว
เงียบ ไกล วังเวง
6.
ไม่ได้เข้าคอร์สเรียนภาษา ส่วนหนึ่งเราก็ผิดเองที่ก่อนมาไม่คุยตกลงเรื่องเวลาเรียน
และชั่วโมงทำ Au pair ให้ชัดเจน
พอถึงวันที่เราต้องเดินทางไปอยู่กับครอบครัวที่
2 ที่อยู่ทางเหนือ ใกล้เมือง Lüneburg คุณพ่อครอบครัวแรกก็ไปส่ง
แสดงความยินดีกับเราอย่างไม่มีมีท่าโกรธเคืองอะไร ทำให้เราสามารถติดต่อกับครอบครัวนี้ได้อีก
โดยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบหลังจากเรามาอยู่กับครอบครัวที่ 2
Au pair กับครอบครัวที่
Eyendorf
แอ๊ะเจอครอบครัวนี้ทาง AuPairWorld เหมือนเดิม ติดต่อคุยรายละเอียดกันเร็วมาก
คุณพ่ออายุ 72 ปี มีลูกสาว 5 คน โดยลูกสาวคนแรกอายุ 45 ปี ลูกสาวคนที่ 4 อายุ 18 ปี
เพิ่งกลับมาจากอเมริกา ยังอยู่บ้านเดียวกัน ส่วนคนสุดท้ายอายุ 9 ย่าง 10 ปี (ตัวน้องเคยเปรย
ๆ ว่าไม่รู้ตัวเองเกิดมาได้ยังไง? อายุห่างจากพ่อสุด ๆ) ซึ่งแอ๊ะมีหน้าที่ดูแลจัดหาอาหารในน้องคนนี้ โดยอายุน้องใกล้กันกับน้องในครอบครัวแรก
แถมพูดภาษาเยอรมันชัดกว่าด้วย (ฝ้ายคิดว่าคงเป็นเพราะโดยทั่วไปคนเยอรมันทางเหนือจะพูดภาษากลาง
(Hochdeutsch) ไม่มีสำเนียงถิ่นแบบ Bairisch ในแถบ Bayern, แบบ Hessisch ในบริเวณรอบ
ๆ Frankfurt หรือแบบ Schwäbisch คือแถว ๆ Stuttgart ซึ่งยากแก่การทำความเข้าใจของคนต่างชาติ)
แล้วยังมีสุนัขอีก 1 ตัว
จุดเริ่มต้นของแอ๊ะกับครอบครัวนี้ค่อนข้างดี
คุณพ่อออกค่ารถไฟแล้วส่งตั๋วรถไฟมาให้ทางไปรษณีย์ และยังจะมารอรับที่สถานีรถไฟด้วย
ตอนที่คุยกันทางโทรศัพท์ ก็คุยกันรู้เรื่องไม่มีอะไรติดขัด แอ๊ะเลยตัดสินใจลุยต่อ ไม่กลับไทย
ซึ่งตอนนั้นลังเลอยู่ว่าจะกลับไทยเลยไหม เพราะตั๋วกลับก็มีแล้ว จะกลับตอนไหนก็ได้
(เรื่องตั๋วเครื่องบิน ก็ได้คำแนะนำจากพี่กล้วยว่าให้ซื้อตั๋วปีไป-กลับ
ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ดีมากอีกเช่นกัน) แต่แอ๊ะก็อยู่กับครอบครัวที่ 2 ได้เพียง
6 เดือนเท่านั้น ในหมู่บ้านชื่อ Eyendorf ห่างจากเมือง Lüneburg แคว้น Niedersachsen
ประมาณ 25 กม.
ตอนที่แอ๊ะมองหาครอบครัวใหม่
ก็มีครอบครัวที่ Hannover ติดต่อมาด้วย ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ของครอบครัวนี้ก็ดูเป็นมิตร
แต่เค้ามีน้องเล็กกว่า แล้วก็ดำเนินการไม่รวดเร็วในเรื่องตั๋วรถไฟแบบครอบครัวที่
Eyendorf ซึ่งจริง
ๆ แล้ว แอ๊ะมองว่า เค้าน่าจะตัดสินใจดำเนินการได้รวดเร็วกว่านี้ เพราะเราเป็น Au
pair มาจากเมืองไกล แล้วตอนนี้ก็อยู่ในเยอรมันแล้วด้วย ทำให้เจ้าถิ่นไม่ต้องมากังวลเรื่องเอกสารต่าง
ๆ เรื่องความน่าเชื่อถือ รวมไปถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากไทยด้วย
ครอบครัวที่
Eyendorf นี้ตอบโจทย์ตรงที่เรามีโอกาสได้ไปเรียนภาษาเยอรมันและได้รู้จักฝ้าย เจ้าของ
blog นี้ด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติ ก็ยังมีปัญหาเดิมคือ คุณพ่อคนนี้ไม่อยากให้เราไปเรียนภาษา
อยากให้เราเป็นพี่เลี้ยง และเป็นแจ๋วน้อยอยู่บ้าน เหมือนครอบครัวแรก แต่ที่เพิ่มมาอีกอย่างหนึ่งก็คือ
เค้าคาดหวังให้เราไปเป็น
“คู่นอน” ด้วย
แม่บ้านของเค้าเล่าให้ฟังว่า
“Au pair ทุกคนที่นี่มาจากยุโรปตะวันออก และทุกคนก็ขึ้นเตียงกับคุณพ่อคนนี้เสมอ” อันนี้
จริงเท็จแอ๊ะไม่สามารถตอบได้ รู้แต่ว่าตลอด 6 เดือน เราทนได้ เพราะเค้าไม่ได้บังคับ
แต่คอยพยายามพูดชักชวนเราให้นอนห้องเดียวกับเค้าตลอด
กฏโดยทั่วไปของ
Au pair ตอนนั้นก็คือสามารถทำงานได้ 2 ครอบครัวต่อปี หรือก็คือย้ายครอบครัวได้ครั้งเดียวในระยะเวลา
1 ปี นั่นก็หมายความว่า แอ๊ะต้องอยู่กับครอบครัวนี้ไปจนครบอายุ 1 ปีของวีซ่า Au
pair ซึ่ง 6
เดือนที่อยู่กับครอบครัวนี้ เรื่องน้องอายุ 9 ขวบไม่มีอะไรน่าหนักใจ น้องน่ารัก ขี้เหงา
ขี้อ้อน ตามประสาเด็ก และแก่แดดเกินเด็กบ้างเป็นบางเวลา น้องเค้าเสียคุณแม่ไปตั้งแต่อายุประมาณ
1 ขวบ พี่สาวเค้าที่อยู่บ้านเดียวกันก็ไม่ค่อยสนิทกัน และส่วนมากก็ออกไปข้างนอก
คุณยายอายุ 92 ปี ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 5 กม. ก็มารับน้องไปนอนด้วยบ้าง พอแอ๊ะมาเป็น
Au pair น้องเค้าก็ไปค้างบ้านคุณยายน้อยลง ส่วนคุณพ่อน้องเค้า นอกจากจะอายุต่างกันมากแล้ว
ยังมีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวานขั้นรุนแรง จนหมดสติหลาย ๆ ครั้ง เป็นวัฎจักรอยู่แบบนี้
- กำเริบ อ่อนแอ ชัก สลบ ฟื้น ปกติ - เป็นใครก็น่าเห็นใจ ดังนั้น นอกเหนือจากที่ต้องดูแลและคอยเป็นเพื่อนลูกสาวคนเล็กแล้ว
ก็ต้องช่วยดูแลพ่อเค้าด้วย ซึ่งตัวน้องเค้าและพี่สาวเค้าไม่ค่อยสนิทใจกับพ่อเท่าไร
มีเพียงเรื่องเงินเท่านั้น ที่ยังต้องพึ่งพาพ่ออยู่
โดยรวมแอ๊ะเข้ากับเด็กทั้งคู่ได้ดี
แต่ที่ไม่ลงตัวก็เรื่องพ่อของเด็กเนี่ยแหล่ะ ตลอดเวลาที่ทำงานที่นี่ โดยเฉพาะช่วงเดือนท้าย
ๆ คุณพ่อเค้ากดดันให้เราไปมีเพศสัมพันธ์กับเค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้คำพูดค่อนข้างรุนแรง
จนวันนึงเราเจอทางตัน และตัดสินใจโทรแจ้งตำรวจ
ตอนนั้นภาษาเยอรมันก็ยังไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่
แต่โชคดีที่เจอตำรวจน่ารัก พยายามเข้าใจคำพูดของแอ๊ะ แต่ใช่ว่าเรื่องจะง่าย เพราะตำรวจเค้าก็มองอีกด้านหนึ่งด้วยว่า
เราหน้าเอเชีย มาจากประเทศไทย อาจจะมีอะไรแอบแฝงไม่ชอบมาพากลหรือเปล่า?
ซึ่งคุณพ่อท่านนี้เค้าเป็นคนมีฐานะ เป็นที่รู้จัก และดูเป็นคนดี (ภูมิหลังของเค้า
ฝ้ายได้ฟังมาจากอาจารย์สอนภาษาเยอรมัน ในวันที่เค้ามาที่มหาวิทยาลัย
เพื่อถามรายละเอียดเวลาเรียนภาษาของแอ๊ะ โดยอาจารย์บอกว่าคุณพ่อวัย 72 ปี เป็นทหารเรือเก่าและเกษียณแล้ว เค้ามีวิธีการพูดการจาที่ค่อนข้างหยาบกระด้าง ซึ่งเป็นปกติของคนที่ต้องอยู่กินใช้ชีวิตบนเรือเป็นระยะเวลานาน) เมื่อแจ้งความแล้ว
ตำรวจก็แนะนำให้ย้ายออกเลย จะอยู่ต่อทำไม - พูดง่ายแต่ทำยาก - เพราะตามกฎแล้ว แอ๊ะไม่ได้รับอนุญาตให้ย้ายครอบครัวอีกแล้ว
นอกจากนี้ เรื่องมันกระทันหันมาก ไม่มีเวลาหาครอบครัวใหม่เลย มาคิดย้อนกลับไป
ตอนนั้น แอ๊ะพยายามเล่าความจริงให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่กรมแรงงานฟัง โดยเน้นไปที่เรื่องเราถูกกดดันให้มีเพศสัมพันธ์กับเค้า เพื่อที่จะแสดงเหตุผลว่าเราจำเป็นต้องขอย้ายครอบครัวแบบฉุกเฉินจริง ๆ ไม่ได้มีเจตนาแจ้งความ เพื่อทำร้ายจิตใจ ชื่อเสียง หรือเรียกร้องอะไร
เพราะข้อดีระหว่างที่อยู่กับบ้านนี้ก็มี แม้จะเป็นข้อดีท่ามกลางสถานการณ์กดดันไปเรื่อย ๆ ก็ตามที
หลังจากวันที่โทรแจ้งตำรวจ
ประมาณ 1-2 เดือนก็มีความคืบหน้าว่า คุณพ่อยื่นคำให้การเพื่อคัดค้านเรา และทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสงสัย และมองเราในแง่ลบ โดยพยายามจับผิดแอ๊ะในการคุยกันทางโทรศัพท์ครั้งหนึ่งด้วย
ท้ายที่สุด
แอ๊ะได้รับความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษจากเจ้าหน้าที่กรมแรงงานของเมือง Lüneburg โดยเค้าทำเรื่องย้ายครอบครัวให้
ทำให้แอ๊ะสามารถไปอยู่กับญาติ หรือคนรู้จักที่ไหนก็ได้ในเยอรมัน
ระหว่างรอครอบครัวที่ 3 ที่ต้องการเราไปเป็น Au pair หลังจากนี้อีก 1 เดือน ซึ่งครอบครัวนี้ก็ตกลงเจอกันแบบไม่ได้เตรียมตัวอะไรมากมาย
และเค้าเองก็ขอเวลาระยะหนึ่งเพื่อเตรียมบ้านไว้รอรับเราด้วย
ระยะเวลา
1 เดือนที่ว่างไม่ได้เป็น Au pair แอ๊ะก็ไปอยู่ที่เมืองเล็ก ๆ ในแคว้น Sachsen ซึ่งเป็นบ้านของเพื่อนญาติอีกที
เป็นครอบครัวใหญ่ที่ช่วยกันทำธุรกิจ และเจ้าของบ้านมีภรรยาเป็นคนไทย ซึ่งก็เป็นประสบการณ์อีกแบบ
ไม่ว่าจะเรื่องภาษาถิ่น ภูมิทัศน์ รวมถึงผู้คน และเรื่องราวในกลุ่มแม่บ้านคนไทย
ข้อดีที่ได้จากครอบครัวนี้คือ
1.
ได้เรียนภาษาอย่างที่อยากเรียน
2.
ให้ความเมตตาเรื่องอาหาร ที่อยู่ และความสะดวกในการไปเรียน
3.
ให้โอกาสได้เปิดหูเปิดตา ได้เห็นเจอะเจอผู้คน และสถานที่ใหม่ ๆ
4.
มีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น
5.
ผู้คนละแวกที่อยู่เป็นมิตรและน่ารักมาก ๆ
6.
ได้รู้จักเพื่อนเพิ่มอีก 2 คนที่คุยได้แบบสนิท ๆ หนึ่งในนั้นก็มีฝ้ายด้วย
7.
ได้ฝึกและต่อสู้กับปัญหาความยุ่งยาก และมีความอดทนในด้านอารมณ์มากขึ้น
8.
เริ่มเห็นและเรียนรู้การใช้ชีวิตของผู้คนที่ต่างจากบ้านเรา
9.
ความขี้อายลดน้อยลงนิดหน่อย
Au pair กับครอบครัวที่
München
ครอบครัวนี้มีลูกชายอายุ 6
ขวบ มีสุนัขพันธุ์โกลเด้นที่ผ่านการฝึกจากโรงเรียนสุนัขมาแล้ว คุณแม่เป็นแอร์สายการบินเยอรมัน
ส่วนคุณพ่อช่วงนั้นต้องบินไป-กลับ ทำงานระหว่างประเทศเยอรมนี รัสเซีย และจอร์เจียทุกสัปดาห์
เรื่องชั่วโมงการทำงาน คุณแม่เค้าขอว่า จะให้เข้าและออกงานตามเวลาแบบเป๊ะ ๆ ไม่ได้
ขอเป็นแบบสบาย ๆ ยืดหยุ่นได้ เพราะอาชีพแอร์อาจจะต้องมีบินด่วนในวัน standby และยังต้องขึ้นอยู่กับเที่ยวบินของเค้าด้วย
เท่ากับว่า มีหลายครั้งที่เราต้องอยู่กับลูกชายเค้าและสุนัขตัวใหญ่ใจดีตลอดเกือบทั้งอาทิตย์
เพราะฉะนั้น เรื่องเวลาทำงานจึงไม่สามารถกำหนดได้จริง ๆ ว่าต้องทำวันละ 5-6 ชม. ต่อวันเท่านั้น
ส่งผลให้ Au pair หลายคนอาจจะอยู่กับเค้าไม่ได้ แต่เรายอมรับและเข้าใจครอบครัวนี้ โดยที่เรามีโอกาสได้เรียนภาษาเยอรมันควบคู่ไปด้วย
ระหว่างที่อยู่กับครอบครัวนี้
เราก็ทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ทำงานบ้าน พาสุนัขไปเดินเล่น ทำกับข้าวบ้าง
ถ้าทั้งพ่อและแม่ไม่อยู่เราก็ทำอะไรหลาย ๆ อย่างเพิ่มไปด้วย เรื่องยากก็ตรงที่
บางจังหวะน้องเค้ามีปัญหาทางอารมณ์ เพราะพ่อแม่เดินทางบ่อย หรือไม่น้องก็เกิดอารมณ์ร้ายแล้วไปลงที่สุนัข
ซึ่งสุนัขตัวนี้บอกได้คำเดียวว่าเป็นสุนัขพันธุ์โกลเด้นแบบพิเศษจริง ๆ
พอวีซ่า
Au pair หมด เราก็อยู่กับครอบครัวนี้ต่อในฐานะนักเรียนภาษา ถึงวีซ่าจะเปลี่ยนสถานะไป
แต่หน้าที่และสิ่งที่เราทำให้ครอบครัวนี้ยังเหมือนเดิม โดยรวม แอ๊ะอยู่กับครอบครัวนี้ประมาณปีกว่า
ๆ แต่ไม่ถึง 2 ปี แล้วช่วงท้าย ๆ ยังมีโอกาสได้เจอครูสอนภาษาที่ München ที่ดีมาก
ๆ ซึ่งอาจารย์ดอกเตอร์ท่านนี้มาจาก Köln ได้ขัดเกลาภาษาเยอรมันให้เราเป็นอย่างมาก
ทำให้จุดมุ่งหมายในการเรียนภาษาเยอรมันถึงเป้าหมายที่วางไว้ ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาเป็นปี
ๆ กว่าจะไปถึงจุดหมายที่เราวางแผนไว้ในการมาเป็น Au pair ที่ประเทศเยอรมนีก็ตามที
บทส่งท้าย
พอแอ๊ะย้ายมาอยู่กับครอบครัว München ก็ได้ข่าวเรื่องการดำเนินคดีว่า
วันที่คุณพ่อวัย 72
ปี ต้องไปให้ปากคำเพิ่มนั้น เค้าส่งลูกสาวอายุ 19 ปีไปแทน และตำรวจก็นัดเราไปให้ปากคำเพิ่มเติมด้วย
แอ๊ะก็รีบบินขึ้นเหนือไป Lüneburg พอไปถึงที่สถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ในห้องที่เรียกเข้าไปคุยก็บอกแบบหน้าตาเฉย แถมปนดีใจว่า
“คดีนี้จบแล้ว เราไม่ต้องทำอะไรแล้ว เพราะคุณพ่อเสียชีวิตลงเมื่อประมาณอาทิตย์ที่แล้ว” -_-
แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังเอาหนังสือพิมพ์ หน้าที่ลงประกาศงานศพของเค้ามาให้ดูด้วย
ตอนนั้นแอ๊ะเชื่อสนิทใจและรู้สึกใจหาย แล้วก็คิดเอาเองว่า “เป็นเพราะเราไม่ได้อยู่คอยดูแลคุณพ่อวัย 72 ปี เพียงแค่ 3 เดือน เค้าก็อำลาโลกเลยหรือไง?” เพราะลูกสาว
2 คนที่อยู่บ้านเดียวกัน เห็นพ่อตัวเองเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่น่ามอง และน่าเข้าใกล้มากเท่าไหร่
ยิ่งพอพ่อตัวเองอาการกำเริบ
ลูกสาวคนเล็กก็นั่งดูพ่อตัวเองด้วยความรู้สึกกลัว ส่วนลูกสาวอีกคนจะโทรตามรถพยาบาลฉุกเฉินอย่างเดียว ไม่มีการพยายามปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือช่วยชีวิตพ่อด้วยตัวเองแต่อย่างใด
พอมาถึงตอนนี้
คิดอีกแง่ในด้านลบว่า “เอ ...
เรื่องที่ประกาศงานศพในหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า? หรือเป็นการจัดฉากเพื่อให้คดียุติ?”
แต่คงไม่ใช่อย่างนั้นหรอก ยังไงก็ตาม แอ๊ะขอให้ต่างฝ่ายต่างอโหสิกรรมให้กัน เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเจอกันอีกในชาติหน้า
โดยรวม
ระยะเวลาที่แอ๊ะอยู่ที่เยอรมนีในฐานะ Au pair และนักเรียนภาษาคือ 2 ปี 2 เดือน (2008-2011)
แม้เวลาที่อยู่ที่นั่นไม่นานก็จริง
แต่ก็ถือว่าใช้เวลานานเกินกว่าที่ตั้งใจคือ 1 ปี แอ๊ะอยากแนะนำคนที่อยากเรียนภาษาจริง
ๆ ให้ส่งตัวเองไปเรียนโรงเรียนภาษาโดยตรงจะดีกว่า มาคาดหวังการเรียนภาษาจริง ๆ จัง
ๆ จากวีซ่า Au pair โดยโรงเรียนภาษาไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงมากก็ได้ ขอให้เจอครูที่มีคุณภาพก็เพียงพอ
ถ้าเจอครูดีใช้เวลา 3 เดือนหรือ 6 เดือนภาษาก็ใช้ได้แล้ว
-----
เรื่องนี้ อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ สำหรับชาวไทยที่อยู่ต่างแดน
แต่สำหรับคนที่ไม่เคยมาสัมผัส อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้ยินบ่อย ๆ เพราะข้อมูลที่มีอยู่ตาม
website ทั่วไป ส่วนมากจะเป็นข้อมูลด้านที่ดีของการมาเป็น Au pair หรือชีวิตที่ดีในยุโรป
แต่ความเป็นจริงก็คือ คนยุโรปบางคนยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้หญิงต่างชาติ
และบางครั้งก็เหมารวมไปหมด ดังนั้น การตัดสินใจเลือกที่จะมาทำงานกับคนที่เราไม่เคยเจอ
แล้วยังต้องมาอาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกับเค้าในฐานะ “ผู้อาศัย” ซึ่งสถานะต่างจากการมาเช่าอพาร์ทเมนต์อยู่กับคนอื่นที่เรียกว่า
WG มากมายนัก จำเป็นต้องมีการเตรียมการป้องกันหลาย ๆ อย่างไว้ สำหรับกรณีฉุกเฉินนะคะ
พอเขียนถึงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศแล้ว ทำให้ฝ้ายนึกถึง “The
Girl with the Dragon Tattoo” นิยายไตรภาคระดับขึ้นหิ้งของ Stieg Larsson นักข่าวหนังสือพิมพ์ชาวสวีดิช
ผู้ล่วงลับไปก่อนที่หนังสือของเขาจะได้รับการตีพิมพ์เสียอีก
เนื้อเรื่องเข้มข้นและแตะปมปัญหาสังคมต่าง ๆ ของประเทศที่ได้ชื่อว่า “พัฒนาแล้ว
ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี และความปลอดภัยของสังคมเมืองอยู่ในระดับต้น ๆ ของโลก”
ฝ้ายมีโอกาสไป Stockholm ในปี 2011 และ 2012 ทั้งไปทำงานและไปเที่ยว
ก็รู้สึกถึงความปลอดภัยในการเดินกลับโรงแรมคนเดียวหลังงานเลี้ยงขอบคุณจบลงในเวลาตีสอง
แต่กระนั้น Larsson
สะท้อนให้เห็นว่าภาพลักษณ์ที่ดูปลอดภัยของเมืองหลวงบนน้ำแห่งนี้
ก็ยังมีมุมมืดที่รอแสงสว่างสาดส่องอยู่ โดยหยิบยกการค้ามนุษย์ด้วยการหลอกสาว ๆ
จากยุโรปตะวันออกและเอเชียเข้ามาค้าประเวณีที่สวีเดน เป็นหนึ่งในปมหลักของการดำเนินเรื่อง
นิยายส่วนใหญ่นั้น มักมีแรงบันดาลใจจากสิ่งที่ผู้เขียนประสบพบเจอ ซึ่งในปัจจุบันเหล่ากระบวนการค้ามนุษย์ที่ล่อลวงสาว
ๆ เพื่อมาค้าประเวณีในยุโรปนั้น ได้พัฒนาวิธีการล่อลวงที่เรียบง่าย
แต่ส่งผลที่ซับซ้อนต่ออารมณ์ของเหยื่อ จนตัวเหยื่อเองรู้สึกผิด รังเกียจตัวเอง และพึ่งพาหรือโหยหาความรักจากคนที่หลอกตัวเองมา
เช่น
กรณีของเมแกน (I was sold into sexual slavery) เด็กสาวชาวอังกฤษที่ถูกแฟนหนุ่มชาวอัลเบเนียนที่เจอกันระหว่างที่เธอไปพักร้อนที่เมืองชายฝั่งของประเทศกรีซ
บังคับให้ขายตัวเป็นเวลาถึง 6 ปี ตั้งแต่อายุ 14 ปี
โดยเริ่มจากการแยกตัวเมแกนจากแม่ของเธอ และย้ายตัวเธอเข้าเมืองหลวง กรุง Athens จากนั้น
ย้ายเธอไปที่อิตาลี ซึ่งระหว่างนี้
พวกค้ามนุษย์ก็บังคับให้เธอเขียนโปสการ์ดไปหาแม่
เพื่อบอกว่าเธอสบายดีและมีความสุข
หรืออีกกรณีของวิคตอเรีย (Working grant - Human Trafficking, the Modern-Day Slave Trade) ที่หลังจากหมั้นหมายกับแฟนหนุ่มของเธอแล้ว เขาก็เสนอให้เธอไปรู้จักกับครอบครัวของเขาที่ยุโรป
และย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากที่นั่น ซึ่งก็ฟังดูสมเหตุสมผล เพราะน้องสาวของเขาอาศัยอยู่ที่อิตาลี
วิคตอเรียตื่นเต้นมากที่จะได้ไปยุโรป
เธอบอกว่า “For me, Europe was golden”
แต่ความจริงนั้นตรงกันข้ามกับสิ่งที่คาดหวังไว้
ระหว่างที่เธออยู่ที่เมือง Lagos เพื่อเตรียมตัวที่จะเดินทางไปอิตาลีนั้น เธอถูกข่มขืนโดยเพื่อนสนิทของคู่หมั้นของเธอเอง
เธอละอายใจและไม่กล้าบอกใคร ซึ่งจริง ๆ แล้วการกระทำเช่นนี้ เป็นขั้นตอนมาตรฐานของกระบวนการค้ามนุษย์ในการทำให้เหยื่อเชื่อฟังและอยู่ในความควบคุม
และเมื่อเธอเดินทางถึงอิตาลี สิ่งที่วาดฝันไว้ก็สลายกลายเป็นหมอกควัน
เหลือเพียงความเป็นจริงที่ขมขื่นที่น้องสาวของคู่หมั้นของเธอบอกกับเธอว่า
“ตั้งแต่คืนพรุ่งนี้ เธอต้องไปขายตัวตามท้องถนนนะ”
กล่าวโดยสรุป ฝ้ายอยากให้ทุกคนที่อยากไปยุโรปหรือไปต่างแดน
ศึกษาหาข้อมูลให้มาก ๆ เมื่อได้ข้อมูลมา ก็ควรวิเคราะห์โดยมีหลักฐานอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงให้มาก
ๆ หากใครมาบอกว่า
“ไปเหอะ ไม่มีความเสี่ยงอะไรหรอก แถมได้เงินอีกต่างหาก”
แบบนี้นี่
ต้องระวังให้มาก เราเป็นใคร? พ่อแม่เค้าก็ไม่ใช่ ทำไมเค้าถึงต้องมาให้โอกาสดี ๆ
ที่ไม่มีความเสี่ยงกับเรา? ถ้ามันดีจริง เค้าคงไม่มาบอกเราหรอก
สู้เก็บไว้ทำกันเองดีกว่า ดังนั้น พึงระวังลูกกวาดสอดไส้ยาพิษให้มาก อะไรที่เป็นข้อมูลวาดฝัน
หรือวิมานในอากาศ ก็อย่าไปเสี่ยง เพราะจะได้ไม่คุ้มเสียนะคะ
GreatAuPair USA เปิดรับสมัครผู้สมัครจากประเทศไทย อายุ 18 - 26 ปี เข้าร่วมโครงการ J-1 Au Pair in America เป็นระยะเวลา 1 - 2 ปี สมัครกับตัวแทนอย่างเป็นทางการ ณ ประเทศไทย https://www.belovedthaiaupair.com/โครงการออแพร์อเมริกา/ สอบถามเพิ่มเติม LINE ID : Belovedthaiaupair ค่ะ
AntwortenLöschen