เยียวยาจิตใจ (คนตกงาน) ด้วยการเป็นอาสาสมัคร
เรื่องที่คนว่างงานส่วนมากต้องเผชิญ นอกจากหน้าที่หลัก ได้แก่การหางานที่ต้องการทำแล้ว
คือการมีเวลาว่างมากจนเกินไป ประกอบกับความรู้สึกไม่มั่นใจและรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตัวเอง
ตอนที่เรียนจบใหม่ ๆ ฝ้ายก็ค่อนข้างมั่นใจ ว่าเราก็มีดี วิทยานิพนธ์จบ MBA
ก็ได้คะแนนดี ผ่านเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด จนได้รับการตีพิมพ์ แต่นับวัน
หลังจากส่งใบสมัครไป แล้วก็ได้แต่อีเมล์หรือจดหมายตอบปฏิเสธทุกอาทิตย์ กราฟความมั่นใจก็เริ่มถอยลงเรื่อย
ๆ จนถามตัวเองอยู่บ่อย ๆ ว่า
“นี่เราห่วยขนาดนั้นเลยเหรอ?”
“เอ๊ะ ที่คิดว่าตัวเองเก่งนี่ สรุปว่าคิดไปเองใช่มั้ย?”
พอช่วงที่แย่ ๆ เพื่อนสนิทชาวบราซิลมาเยี่ยม
เราก็ระบายให้ฟังว่า “เบนยามิน สงสัยเราจะไม่ได้เรื่องจริง ๆ น่ะล่ะ เลยไม่มีใครสนใจที่จะเชิญเราไปสัมภาษณ์เลยด้วยซ้ำ”
คุณชายตอบกลับมาได้ดีมาก --- อย่างน้อยในตอนนั้น --- ก็ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นว่า “โหย
ฝ้าย คนห่วย ๆ ก็มีงานทำเยอะแยะไป” -_-
ประมาณเดือนมีนาคม 2012 ช่วงที่กำลังหางานทำอยู่นี้
ฝ้ายก็ได้เป็นเจอข่าวของ “โรงเรียนเยาววิทย์” ใน Internet ซึ่งฝ้ายก็สนใจมาก
เพราะตัวโครงการตอบโจทย์อะไรหลาย ๆ อย่าง
โรงเรียนประจำเยาววิทย์ จ.พังงา ก่อตั้งขึ้นในปี 2006
โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าจากโศกนาฎกรรมสึนามิ
โดยผู้ก่อตั้งเป็นชาวเยอรมัน เขารวบรวมเงินทุนก้อนแรกจากชาวเยอรมัน
เพื่อมาก่อตั้งโรงเรียนนี้ เมื่อสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
เสด็จเป็นองค์ประธาน เปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ
ที่ฝ้ายชอบโครงการนี้มาก ๆ ก็คือ
เค้าพยายามที่จะเลี้ยงตัวเองให้ได้ และลดการพึ่งพาเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา
โดยการแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงเรียนเพาะปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา
เพื่อใช้บริโภคในโรงเรียน ที่เหลือก็นำออกขาย ส่วนที่สองคือ เค้าได้สร้างบ้านพัก
ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาพักผ่อนและท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
โดยตรงส่วนนี้ นอกจากเป็นการสร้างรายได้ให้แก่โรงเรียนแล้ว เด็ก ๆ เยาววิทย์ก็จะได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติด้านการโรงแรมโดยตรง
จากอาสาสมัครที่เป็นนักเรียนการโรงแรมของโรงเรียนสอนการโรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศสวิสเซอร์แลนด์
เมื่อได้อ่านรายละเอียดคร่าว ๆ ก็รู้สึกสนใจในโครงการนี้
ฝ้ายก็เลยเขียนเมล์ไปหาผู้ก่อตั้ง คุณฟิลิปป์ โดยเขียนบอกว่า
เราเป็นคนไทยที่มาเรียนที่เยอรมนีและสนใจโครงการโรงเรียนเยาววิทย์มาก
และอยากช่วยเหลือ โดยเราสามารถแปลภาษาเยอรมันเป็นไทยได้
ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อโรงเรียน เพราะโรงเรียนยังไม่มีเวปไซต์เป็นภาษาไทยและสื่อ PR
ต่าง ๆ ก็เน้นภาษาอังกฤษและเยอรมันเท่านั้น
ไม่นานเราก็ได้รับการติดต่อจากผู้จัดการโครงการที่ประจำอยู่ที่ไทยและนัดสัมภาษณ์
ซึ่งเค้าก็ยินดีมากที่เราจะอาสาช่วยงานเค้า (ตอนแรกเค้าชวนให้ฝ้ายกลับไทย
ไปทำงานเป็นมือขวาให้เค้า แต่ฝ้ายยังไม่พร้อม เลยขอเป็นอาสาสมัครไปก่อน) จากนั้น
เราก็เริ่มมีไฟมาก คือลืมเรื่องการหางานทำไประยะหนึ่ง แล้วก็หมกมุ่นเรื่องการพยายามทำ
PR โรงเรียนอย่างไรให้เข้าถึงคนไทย
เราตอบโจทย์นี้ด้วยการทำ story board หัวข้อ A Present for Yaowawit's Children ขึ้นมา และใช้เวลา 24
ชั่วโมงถัดมาตัดต่อเรื่องราวเป็นวิดีโอความยาว 6 นาที
บรรยายเนื้อเรื่องของเยาววิทย์เป็นสามภาษา โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ทาง Internet
เพราะเรา จนบัดนี้ ก็ยังไม่ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนเยาววิทย์ที่จังหวัดพังงาเลยสักครั้ง
แต่เคยเจอคุณฟิลิปป์และผู้จัดการโครงการที่เยอรมนีแล้ว ผลตอบรับจากวิดีโอก็ดีมาก
แม้จะมีคนติงว่าค่อนข้างยาวไปหน่อย ซึ่งก็เพิ่งคิดได้หลังจากทำเสร็จแล้วว่ายาวไปจริง
ๆ
หลังจากนั้น ฝ้ายก็รับหน้าที่
แปลสื่อการสอนของเยอรมันเป็นภาษาไทย ที่ยากมากหน่อยก็คือแปลวิชาฟิสิกส์สำหรับเด็ก
และทำจดหมายข่าวสามภาษาให้เยาววิทย์ทุกเดือน
การอาสาทำโครงการนี้ ในบางครั้งก็ใช้เวลามากอยู่
มากจนเพื่อนคนเยอรมันบางคนบอกว่า ทางโรงเรียนน่าจะจ่ายค่าจ้างให้เราบ้าง แต่เราไม่แคร์นะ
เพราะสิ่งที่เราได้จากการเป็นอาสาสมัครนี้
ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองกลับมามีคุณค่าอีกครั้ง ได้รับรู้ว่าสิ่งที่เราทำ
ช่วยให้เด็ก ๆ ที่เยาววิทย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นที่รู้จักของทั้งคนไทยและต่างชาติมากขึ้น
เราได้รับจดหมายขอบคุณจากเด็ก ๆ ที่วาดรูปส่งมาให้เรา แค่นี้ก็รู้สึกดีมากพอแล้ว
กล่าวโดยสรุป สิ่งที่อยากบอกในบทนี้ก็คือ
คนเราถึงแม้ว่าเราว่างงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องแล้งน้ำใจ
ไม่สนใจโลกภายนอก มองเห็นแต่ปัญหาของตัวเอง
และคิดว่าเราต้องแก้ปัญหาของเราให้ได้ก่อน จึงจะสามารถช่วยคนอื่นได้
หรือต้องได้งานก่อนถึงจะทำงานอาสาสมัครได้
อะไรสามารถช่วยคนอื่นได้ ก็ลงมือช่วย ไม่ได้มีรายได้ก็ทำได้
งานอาสาหลาย ๆ อย่าง ไม่จำเป็นต้องออกเงินเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่สละเวลา แรงกาย
และแรงใจเท่านั้น สิ่งที่ได้กลับมาก็เป็นความรู้สึกดี ๆ ว่าเราได้ทำอะไรให้แก่เยาวชนที่อาจจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต
เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
นอกจากนี้ เราสามารถใส่งานอาสาเหล่านี้ ลงใน resumé
ได้อีกด้วย ฝ้ายได้ขอให้ทางเยาววิทย์ทำจดหมายรับรองการเป็นอาสาสมัครตั้งแต่ปี 2012
แล้วแนบส่งไปด้วยทุกครั้ง เวลาสัมภาษณ์งาน เค้าก็ถามฝ้ายตรงจุดนี้ตลอด
เราก็มีความสุขที่ได้เล่าให้เค้าฟังว่าช่วงเวลาที่เราว่างงาน
ก็ไม่ได้นั่งหายใจทิ้งไปวัน ๆ แต่พยายามสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ขึ้นมาด้วย
สิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ คุณค่าของเราไม่ได้ตกหล่นหายไปไหน
ถึงแม้เราจะตกงาน
การได้งานทำหรือไม่นั้น มันขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย
ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งที่เราพอจะควบคุมและทำให้ดีที่สุดได้ก็คือ
การทำใบสมัครงานเราให้ดี หาข้อมูลของงานที่เค้าต้องการให้ทำ และเตรียมตัวให้พร้อมในการสัมภาษณ์
เมื่อเราทำตรงนี้ให้ดีแล้ว ผลจะออกมาเป็นยังไง เราก็ต้องยอมรับ แต่ไม่ยอมแพ้นะคะ
ป.ล. บทนี้ออกมาเขียนนอกสถานที่ในสวนสาธารณะใจกลางเมือง
Stuttgart ฉลองวันที่อากาศแจ่มใสสุด ๆ
Kommentare
Kommentar veröffentlichen