เรียนฟรีมีอยู่จริง...ที่เยอรมนีและนอร์เวย์






เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 Times Higher Education ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2016 แต่ฝ้ายจะขอจำกัดวงเนื้อหาของข้อมูลอยู่ที่มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของยุโรปที่คุ้มค่าแก่การลงทุนและน่าไปเรียนต่อนะคะ ซึ่งข้อมูลที่จะใช้มาจาก Best universities in EU 2016: Where can you get value for money? โดยจะเห็นได้ว่า TOP20 ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในยุโรปก็คงหนีไม่พ้นหน้าเดิม ๆ จาก UK ที่จับจองพื้นที่ส่วนใหญ่ใน TOP20 แต่อันดับสองรองลงมา ก็คือ มหาวิทยาลัยจากประเทศเยอรมนีค่ะ ที่น่าสนใจก็คือ „ค่าเล่าเรียน*“ ของมหาวิทยาลัยในทวีปยุโรปก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งมีเพียง เยอรมนีและนอร์เวย์ เท่านั้น ที่ไม่คิดค่าเล่าเรียน ทั้งนักศึกษาที่เป็นพลเมืองยุโรปหรือนักศึกษาต่างชาติ!!!


โดยทั่วไป เวลาฝ้ายเห็นข้อมูลการจัดอันดับ คำถามแรกที่ฝ้ายจะถามตัวเองคือ เค้าใช้เกณฑ์อะไรในการจัดอันดับ? เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน? ซึ่งข้อมูลการจัดอันดับครั้งนี้ เค้าก็เปิดเผยไว้อย่างละเอียดตามนี้ค่ะ
กล่าวโดยสรุป ผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยจะถูกวัดใน 5 ด้าน คือ
  1. การสอน (Teaching) รวมถึงบรรยาการการเรียนการสอน
  2. งานวิจัย (Research) รวมถึงจำนวน รายได้ และชื่อเสียง
  3. การอ้างอิง (Citations) หมายถึง การที่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยได้ถูกนำไปใช้ต่อยอดหรืออ้างถึงในงานวิจัยของคนอื่น นับเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้แก่มนุษยชาติ
  4. ความเป็นสากล (Internation outlook) หมายรวมถึงการมีคณาจารย์ นักศึกษาที่หลายหลายเชื้อชาติ และงานวิจัยที่ทำร่วมกันอีกด้วย
  5. การสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจ (Industry income) ผ่านนวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย



ผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยใน TOP20 ของเยอรมนีตามลำดับ

#10 LMU München



#13 Heidelberg Universität


#15 Humboldt Universität Berlin


#16 TU München (Technical University of Munich)


เมื่อดูจากสถิติและข้อมูลที่มี ก็กลับมาสู่คำถามเดิม ๆ ที่ว่า ทำไมไม่ค่อยมีคนไทยไปเรียนที่เยอรมนี? ทั้ง ๆ ที่คุณภาพของมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าฝั่งอังกฤษ อีกทั้งยังไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ฝ้ายรวบรวมมุมมองจากทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน มารวมกันไว้ดังนี้ค่ะ


ระดับปริญญาเอก จาก Universität Stuttgart


ผมจบ ป.เอก Uni Stuttgart ครับ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ผมคงไม่มาเรียนอ่ะครับ เพราะเรียนที่นี่ใช้เวลานานมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ผมเสียเวลาไปมากกับการเรียนที่นี่ ข้อดีคือ ป.เอกที่นี่เปรียบเสมือนการทำงานอย่างนึง ถ้าไม่ได้ทุนเรียนจากเมืองไทย เราจะได้เงินเดือนจากอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย อาจจะน้อยกว่าทำงานกับบริษัทอยู่บ้าง ถ้าไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายก็อยู่ได้สบายครับ และเรายังสามารถเอาไปใส่ใน CV/Resume รวมในประสบการณ์การทำงานได้ด้วย ถ้าใครไม่ซีเรียสเรื่องเวลา ขอเนื้อหาแน่น ๆ ปึ้ก ๆ เยอรมันก็เป็นตัวเลือกนึงที่น่าสนใจครับ นอกจากนี้ ที่เยอรมันสวัสดิการดีนะ อย่างช่วงปีกว่า ๆ ที่หางานทำหลังจากเรียนจบมา ผมได้เงิน Arbeitslosgeld (เงินที่รัฐบาลให้เป็นรายเดือนแก่คนที่เคยทำงานเสียภาษีให้กับรัฐ แล้วเกิดตกงาน หรืออยู่ในช่วงที่กำลังหางานทำใหม่) ด้วย เพราะตอนเรียน ป.เอก ถือว่าทำงานจ่ายภาษี เลยใช้สิทธิ์ตรงนี้ได้ เทียบเท่าคนที่นี่เลย”



ระดับปริญญาโท จาก RWTH Aachen



ผมจบการศึกษาระดับปริญญาโทที่ RWTH Aachen เยอรมนี โดยหลักสูตรที่เรียนเป็นแบบภาษาอังกฤษ เคยทำงานอยู่ที่เยอรมนีประมาณ 7 ปี ก่อนที่จะกลับมาทำงานกับบริษัทเยอรมันในประเทศไทยครับ ในมุมมองของผม ผมมองว่าการมาเรียนที่เยอรมนีคุ้มค่ากว่าการไปเรียนอังกฤษด้วยเหตุผลต่อไปนี้ครับ

  1. ค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายในการเรียนที่เยอรมนีจะอยู่ประมาณ 420,000 บาทต่อปี ในขณะที่อังกฤษจะอยู่ที่ประมาณ 2,000,000 - 4,000,000 บาทต่อปี ดังนั้น ถึงระยะเวลาเรียนเฉลี่ยของเยอรมนีจะอยู่ที่ 3 ปี แต่ค่าใช้จ่ายจะต่ำกว่าการเรียน 1 ปีที่อังกฤษมาก ๆ ครับ
  2. โอกาสการฝึกงาน ในหลักสูตรของเยอรมนี การฝึกงานจะเป็นภาคบังคับในหลักสูตร ทำให้เรามีโอกาสทดลองงานในบริษัทได้ 4-6 เดือน ในขณะที่หลักสูตรของอังกฤษจะมองข้ามเรื่องนี้ไป เพื่อให้จบการศึกษาเร็วขึ้น
  3. โอกาสในการทำงาน โดยส่วนใหญ่ เมื่อจบการศึกษาในเยอรมนีแล้ว ทุกคนจะมีโอกาสหางานต่อในประเทศได้ และส่วนใหญ่จะได้ทำงาน เนื่องจากมีหลักฐานการศึกษาในเยอรมนีแล้ว แต่ถ้าเป็นที่อังกฤษ เมื่อจบการศึกษาแล้วจะต้องกลับประเทศทันที
  4. ภาษา ในขณะที่หลายคนมองว่า การเรียนภาษาที่สามเป็นเรื่องยาก วุ่นวาย สิ่งนี้กลับเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่เราจะได้เข้าถึงชีวีต ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของเยอรมนี นอกจากนี้ ภาษายังเป็นใบเบิกทางให้เรามีโอกาสทำงานในเยอรมนีได้อีกด้วย
  5. สังคม ในประเทศอังกฤษ ถึงแม้ว่าเราจะพูดภาษาอังกฤษได้ แต่เราจะถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสองหรือสามเสมอ ในขณะที่ถ้าอยู่เยอรมนีแล้วพูดภาษาเยอรมันได้ เราจะมีโอกาสเท่าเทียมกับคนเยอรมันเลยทีเดียว สามารถทำงานได้ และได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานเยอรมันครับ



ระดับปริญญาโท จาก TU München

“จบโท TU München ค่ะ เห็นด้วยอย่างมากกับความเห็นของ RWTH Aachen โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย หากไม่รวมค่าเล่าเรียน หรือ กินข้าวนอกบ้านบ่อย ๆ ถ้าพูดตามตรงก็ใกล้เคียงกับตอนอยู่กรุงเทพนะ นอกจากนี้ ระหว่างเรียน เรายังสามารถทำงาน part time อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งช่วยลดภาระได้บางส่วนอีกด้วย ส่วนเรื่องภาษาที่สาม ก็ไม่ได้ยากจนเกินตัว ถ้าเราช่างฝึกช่างฝน คนเยอรมันชอบซะอีกเวลาถามคำถามเค้าเยอะ ๆ”


ระดับปริญญาโท จาก Universität Passau

ข้อดี
  1. ค่าเทอมฟรี
  2. ได้ภาษาที่สาม
  3. สวัสดิการดี เช่น มีตั๋วรถเมล์ รถไฟฟรี ส่วนลดต่าง ๆ
  4. ค่าครองชีพไม่สูงมากแบบอังกฤษหรืออเมริกา
  5. ทำงานหารายได้เสริมได้
  6. ประเทศเพื่อนบ้านเยอะดี ท่องเที่ยวได้ทั่ว
  7. จบแล้ว ฝึกงาน ทำงาน และอยู่ต่อได้เลย

ข้อเสีย
  1. เสียเวลาเรียนภาษาค่ะ และยาก แต่ถ้าพยายามก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรง
  2. เรียนหนัก จบยาก จบช้า ป.โทนี่เรียนกัน 2.5-3 ปี เพื่อนที่อังกฤษ เรียนปีเดียวจบ
  3. จบไม่ตรงสาย หรือสายที่ไม่เป็นที่ต้องการ (แบบเรา) นี่หางานยากมากค่ะ ทำงานข้ามสายก็ไม่ได้



สรุป ตอนแรก ถ้าเลือกได้ มีเงิน อยากไปเรียนอังกฤษหรืออเมริกาค่ะ





ระดับปริญญาตรี จาก TU Darmstadt


“ระดับป.ตรี ค่อนข้างยากมากค่ะ ขนาดเตรียมความพร้อมให้ลูกด้านภาษาเยอรมันก่อนไปเรียนมหาวิทยาลัยสองปีกว่ายังไม่พอเลยค่ะ ส่งลูกไปเรียนสองคน ลูกชายเรียนไหว แต่เรียนหนักมาก ลูกสาวเรียนมาหนึ่งปี ปรับตัวไม่ไหว เลยเปลี่ยนเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษแทน ทั้งสองคนเรียนจบหลักสูตร high school จากต่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เป็นเวลาเจ็ดปี ซึ่งว่าเรียนยากแล้ว มาเจอเยอรมันยากพอ ๆ กัน แต่ความยากเพิ่มมาตรงภาษาที่สามนี่แหละค่ะ แต่ถ้าจบจากเยอรมันมาได้ก็สุดยอดคุณภาพแล้ว ลูกบอกว่าวันแรกที่ไปเรียน อาจารย์บอกเลยว่ามีแค่ไม่เกิน 20% ที่จะจบตามที่กำหนด ถ้าอยากจบเร็วเรียนที่อื่นจะดีกว่า เพราะเยอรมันไม่ใช่ business education เหมือนอังกฤษหรือออสเตรเลียค่ะ”

เรื่องเรียน ป.ตรี แล้วจบยากนี่ ไม่ได้จำกัดแค่เพราะนักเรียนต่างชาติหรือเพราะเป็นภาษาที่สามเท่านั้นนะคะ เพื่อนฝ้ายนี่แหละ คนเยอรมัน เรียนคณะวิศวกรรม เค้ายังบอกเลยว่า ตอนปีแรกมีนักเรียนเกือบร้อย ปีสองหายไป 10 คน ปีสามหายไปอีก 20 พอใกล้ ๆ จะจบ หายไปอีก ตอนรับปริญญาจริง เหลือแค่ 30 คนเองมั้งคะ เพราะฉะนั้น เรียนโทที่เยอรมัน ง่ายกว่าเรียนตรีค่อนข้างเยอะและโอกาสในการเรียนจบสูงกว่ามากค่ะ



ถ้าจะให้สรุป สาเหตุที่ไม่ค่อยมีคนอยากไปเรียนที่เยอรมนี ทั้ง ๆ ที่ค่าเล่าเรียนฟรี ค่าครองชีพพอรับได้ สวัสดิการดี ความปลอดภัยสูง ก็คงจะเป็นได้ 3 เรื่อง คือ

ภาษา
เวลา
ค่านิยม

เอาเรื่องแรกก่อน “ภาษา” ในหมู่นักเรียนเยอรมัน หรือคนที่อยู่ยุโรปนี่ ภาษาที่สามแทบจะเป็น requirement ขั้นต่ำ แต่คนไทยยังมองว่าเป็นอุปสรรคอยู่ ซึ่งถ้ามองในมุมของคนที่เรียนไหว มันก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไร แต่หากได้มาคลุกคลีกับสังคมไทยจริง ๆ แค่ภาษาที่สองอย่างอังกฤษ ยังลูกผีลูกคน ไม่ต้องพูดถึงภาษาที่สามเลย ทำให้เด็กไทยเสียโอกาสไปหลาย ๆ อย่าง เพราะไม่พัฒนาภาษานี่แหละ ข่าวสารต่าง ๆ มีเยอะแยะ แต่พอเป็นภาษาอังกฤษ ก็ไม่อ่านกันอีก หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องความได้เปรียบของการเรียนภาษาเยอรมัน ก็เข้าไปอ่านได้ที่ ทำไมคนไทยไม่ค่อยไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสหรือเยอรมนี?


เรื่องที่สอง คือ เรื่อง “เวลา” โดยทั่วไปแล้ว การเรียนที่เยอรมัน จะใช้เวลานานกว่าที่อื่นอยู่แล้ว คือจะพูดยังไงดี คนที่นู่นเค้า “ไม่รีบ” เรียน ไม่เหมือนเมืองไทย ที่อายุ 18 ต้องเข้ามหาวิทยาลัย อายุ 22 ต้องจบตรี อายุ 25 ต้องจบโท ดังนั้น มาเรียนที่นี่อาจไม่ทันใจ เพราะมหาวิทยาลัยเค้าไม่ปล่อยผ่านง่าย ๆ น่ะค่ะ


สุดท้าย คงเป็น “ค่านิยม” ที่ว่าจบจากเยอรมัน คนไม่ค่อยรู้จักชื่อมหาวิทยาลัยเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับ US หรือ UK แล้วก็ connection ของคนที่จบจาก US กับ UK ในเชิงธุรกิจก็น่ามีประโยชน์มากกว่า




*มหาวิทยาลัยในเยอรมนีไม่ได้เรียกเก็บ "ค่าเล่าเรียน หรือ Tuition fee" แต่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ดังนี้ แตกต่างกันไปตามแต่มหาวิทยาลัย ฝ้ายยกตัวอย่างของมหาวิทยาลัยที่ฝ้ายเคยเรียน Leuphana Universität Lüneburg




  • Student union contribution: 96.00€
  • Student contribution: 160.70€ (ตรงนี้คือรวมตั๋วรถไฟ รถเมล์ รถราง ทุกอย่างที่ต้องใช้ในการเดินทางในราคานักเรียนค่ะ)
  • Administration costs: 75.00€
  • รวมทั้งสิ้น 331.70€ ต่อเทอม


นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ประเมินค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของนักศึกษาไว้ให้ด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิต ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้จะขึ้นอยู่กับค่าครองชีพของแต่ละเมืองด้วย เช่น ที่ München ก็จะแพงกว่าที่ Lüneburg มากมากกกกค่ะ




  • ค่าเช่าบ้าน รวมค่าน้ำ ค่าไฟ 298€
  • ค่าอาหาร 165€
  • ค่าเสื้อผ้า 52€
  • ค่าอุปกรณ์การศึกษา 30€
  • ค่าเดินทางอื่น ๆ 82€
  • ค่าประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล 66€
  • ค่าโทรศัพท์ Internet อื่น ๆ 33€
  • ค่าสันทนาการ กีฬา เบียร์ ปาร์ตี้ 68€
  • รวม 794€ ต่อเดือน




สุดท้ายนี้ หวังว่าข้อมูลที่รวบรวมมาให้ จะช่วยให้ผู้อ่านใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจได้ดีขึ้นนะคะ หรือว่าท่านใดยินดีจะแบ่งปันประสบการณ์หรือให้ความเห็นเพิ่มเติมก็ยินดีรับฟังค่ะ :)




Kommentare

Beliebte Posts aus diesem Blog

ส่งสัมภาระเกือบ 400 กิโลกรัมจากเยอรมันกลับไทยแบบ DIY

เหรียญสองด้านของการเป็น Au pair ในต่างแดน

ลองมาทำ Résumé เก๋ ๆ ด้วย Powerpoint ดูนะคะ