Der Vorleser หนังสือที่เต็มไปด้วยคำถามถึงศีลธรรมและการมีอยู่ของกฎหมาย
หนังสือเล่มนี้ เป็นงานเขียนของนักกฎหมาย Bernhard Schlink ชาวเยอรมัน แต่เป็นนิยายที่อ่านได้อย่างไม่ขัดเขิน ได้รับการแปลถึง 37 ภาษา และทำเป็นภาพยนตร์นำแสดงโดย Kate Winslet, David Kross และ Ralph Fiennes เป็นหนังสือที่นักเรียนเยอรมันอ่านเป็นหนังสือนอกเวลา และก่อให้เกิดการถกเถียงในหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องการพรากผู้เยาว์ บาดแผลทางใจ ตัวบทกฎหมาย ที่มีการพูดว่ากฎหมายนั้นใจแคบ และอิสรภาพ
ฝ้ายไปได้หนังสือเล่มนี้จากตลาดขายของมือสอง ในราคา 6.90 ยูโร หลังจากอ่านเล่มนี้จบในปี 2011 ก็ออกไปลาก flatmate ชาวเยอรมันมานั่งคุยกันเลยทีเดียว และคุยกันยาวมากกก เพราะเป็นหัวเรื่องที่สนุกในการอภิปรายนั่นเอง (และคนเยอรมันส่วนมากชอบแสดงความคิดเห็น บางคนยังอาสาสวมบทบาทเป็น devil advocate เพื่อให้การสนทนาไม่ไปทางเดียวกันจนเกินไป)
เนื้อเรื่องครอบคลุมเวลาตั้งแต่ตัวเอกอายุ 15-45(?) ปี ดังนั้น จะมีบรรยากาศของช่วงหลังยุคนาซี ค่ายกักกัน และผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์นั้นเป็นตัวเดินเรื่อง
มีการวิเคราะห์และสรุปหนังสือเล่มนี้มากมาย ฝ้ายก็จะขอไม่พูดซ้ำถึงเนื้อหาโดยรวม แต่อยากจะชวนคุยในแง่มุมของกฎหมายและปรัชญา ที่จะมีการเปิดเผยเนื้อหาที่สำคัญ ดังนั้น spoiler alert นะคะ
ฮันนา เป็นยามคุมนักโทษชาวยิวของหน่วย SS ได้ถูกกล่าวหาว่า ปล่อยให้นักโทษถูกไฟคลอกตายในโบสถ์ที่ขังพวกเขาไว้ เนื่องจากระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงท้ายสงครามโลก โดยมีผู้รอดชีวิตเพียง 2 คน มิคาเอล เล่าเรื่องราวการพิจารณาคดีผ่านสายตาของคนรุ่นหลัง ที่ส่วนใหญ่ออกจะ “ประนาม” พ่อแม่ของพวกเขาที่วางเฉยต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงนาซีเรืองอำนาจ
ในการพิจารณาคดีในศาล มีตัวละครอยู่ 3 กลุ่ม โจทก์ (2 แม่ลูกที่รอดชีวิต) จำเลย (ฮันนา และยามคนอื่นอีก 5 คน) และพยาน (ชาวบ้านที่อยู่รอบโบสถ์) คดีนี้จริง ๆ ค่อนข้างเอื้อประโยชน์ต่อจำเลย เพราะมีพื้นฐานมาจาก (1) คำให้การของโจทก์ ที่ถูกขังอยู่ข้างใน ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ภายนอก ว่ายามทำอะไรบ้าง ประกอบกับ (2) คำให้การของพยานที่เห็นเหตุการณ์ ซึ่ง “พยาน” ที่ว่านั้น ก็ไม่กล้าพูดอะไรมาก เพราะอาจจะถูกตั้งคำถามกลับว่า “ทำไมพยานจึงไม่พยายามช่วยเหยื่อนับร้อยคน เพราะหากจำเลยมีอยู่เพียงหยิบมือเดียว ชาวบ้านที่มีจำนวนมากกว่าก็น่าจะสยบยามผู้หญิงกลุ่มนี้ได้ไม่ยาก”
สิ่งที่ฝ้ายรู้สึกว่า “นี่คือลักษณะนิสัยของคนเยอรมัน” จริง ๆ ก็คือ การที่ฮันนา ให้การกับศาลว่า เธอเป็นยาม หน้าที่ของเธอคือการคุมนักโทษให้อยู่ในระเบียบ หากเธอเปิดประตูโบสถ์ เธอจะคุมนักโทษที่กำลังตระหนกและหนีตายเป็นร้อยได้อย่างไร? เธอถามศาลกลับด้วยซ้ำ อย่างไร้เดียงสา ซื่อ ๆ ว่าหากผู้พิพากษาเป็นเธอจะตัดสินใจอย่างไร?
เนื้อเรื่องยังพูดถึง การที่ ฮันนา ยอมรับผิดต่อศาล โดยมีหลักฐานเพียงชิ้นเดียว คือ “รายงาน” ที่เขียนขึ้นถึงเหตุการณ์ที่เกิด และศาลขอให้จำเลย เขียนข้อความลงในกระดาษเพื่อนำไปเปรียบเทียบลายมือ ว่าใครในหมู่จำเลยเป็นคนเขียน ฮันนา ไม่ยอมเขียน และ ให้การกับศาลว่า
“เธอเป็นคนเขียนเอง”
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คำสารภาพนี้ ไม่เป็นความจริง เพราะฮันนา
“อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้”
ซึ่งมิคาเอลคิดเรื่องนี้ออก จากการประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างที่พวกเขาอยู่ด้วยกัน ซึ่งนั่นเป็นที่มาของชื่อหนังสือเรื่องนี้ “Vorleser การอ่านออกเสียงดัง ๆ”
เธอชอบฟังเรื่องราว แต่อ่านเองไม่ได้ จึงต้องขอให้นักโทษอ่านให้เธอฟัง เธอจึงไม่ได้รับรู้เรื่องสำนวนฟ้อง หรือหมายศาลที่ส่งไปหาเธอ
เธอจึงปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าของบริษัท Siemens หรือรถรางที่เธอทำงานเป็นคนตรวจตั๋ว
เพราะเธอไม่สามารถอ่านหรือเขียนหนังสือได้
สิ่งที่เป็นคำถาม ทั้งของตัวฝ้ายเอง และของมิคาเอล ก็คือ ความลับนี้ มันน่าอับอาย จนเธอยอมสารภาพว่าเป็นอาชญากร เพียงเพราะกลัวคนจะรู้ว่าเธออ่านหนังสือไม่ออก? ทำไมเธอถึงยอมถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่ออาชญกรรมร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนเป็นร้อย? มากกว่าจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่รู้หนังสือ ซึ่งไม่ใช่ความผิดร้ายแรงอะไร
สิ่งที่น่าสนใจต่อมาก็คือ มิคาเอล ผู้รู้ความจริงข้อนี้ ที่สามารถช่วยให้ฮันนาเป็นอิสระได้ ควรทำอย่างไร? เค้าควรจะไปให้การกับศาลหรือไม่? หรือเก็บเงียบไว้? อะไรคือสิ่งที่ถูก? อะไรคือสิ่งที่ควร? และทั้งสองสิ่งนี้ มันไปทางเดียวกัน หรือขัดแย้งกัน? สิ่งที่ถูกอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ควร แต่สิ่งที่ควรก็อาจจะไม่ถูกต้องก็เป็นได้
มิคาเอล ในวัยประมาณ 20 ก็ไปปรึกษาพ่อ ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งคำตอบของพ่อสมกับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมาก คือ
การที่เราจะไปเจ้ากี้เจ้าการ บอกคนที่เป็น “ผู้ใหญ่” แล้ว ว่าอะไรดีกับเค้า โดยไม่ให้เค้า “เลือกเอง” เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ถึงแม้ว่า ถ้าเราทำไปแล้วจะทำให้เค้ามี “ความสุข” ก็ตามที เพราะสิ่งที่เรากำลังพูดถึงตอนนี้ คือ “ศักดิ์ศรี” และ “เสรีภาพ” ของคนคนนั้น แม้แต่ตอนเราเป็นเด็ก เรายังไม่ชอบเลย ที่ “แม่” เป็นคนที่ถูกเสมอ
แต่หากพูดถึง “ความรับผิดชอบ” ที่รู้สึกว่า เราพบหนทางที่จะทำให้ชีวิตคนคนหนึ่งดีขึ้น ซึ่งเค้ายังไม่รู้ กรณีนี้ เราควรต้องชี้ทางสว่างให้เค้า และให้เค้าตัดสินใจเอาเอง แต่ต้องบอกกับเค้าตรง ๆ ไม่ใช่พูดลับหลังเค้า หรือไปบอกคนอื่น
ตอนจบของเรื่องนี้ ยังมีเหตุการณ์หักมุมอยู่ ซึ่งฝ้ายก็คงจะไม่เปิดเผยตรงนี้ แต่อยากชักชวนให้ลองอ่านกันดูค่ะ ฉบับภาษาไทย 266 หน้า เชื่อเหลือเกินว่าควรค่าแก่การอ่าน แม้ว่าจะไม่ใช่นักกฎหมาย หรือไม่ได้สนใจเรื่องสมัยนาซีมากนัก
สวัสดีค่ะ,
AntwortenLöschenก่อนอื่นต้องขอโทษที่คอมเมนต์นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับบทความเลย พอดีอยากจะขอคำปรึกษาจากคุณ Phaiy แต่หาช่องทางติดต่ออื่นไม่เจอ เลยขออนุญาติติดต่อผ่านทางนี้นะคะ
พอดีตอนนี้สนใจด้าน Sustainable Management อยากขอคำปรึกษาเพราะไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรค่ะ อยากจะเรียนต่อเพิ่ม ตอนนี้พยายามหาข้อมูลอยู่ ไม่รู้ว่าที่ไหนดี และอยากจะขอทุน เพราะกำลังทรัพย์ไม่ค่อยแข็งแรง แต่ก็กังวลเรื่องคุณสมบัติและ reference เพราะไม่เคยทำงานด้านนี้มาเลย และไม่รู้ว่าจะเอาตัวเองเข้าไปทำงานด้านนี้ได้อย่างไร หากไม่ได้เรียนจบด้านนี้มาค่ะ
จบวิศวเคมีมา ทำงานด้านที่จบประมาณ 7 ปี แต่รู้สึกว่ายังไม่ใช่สิ่งที่ชอบเท่าที่ควร
ยังไงรบกวนตอบกลับที่อีเมล preamwongmaha@gmail.com ได้ไหมคะ เพราะกลัวว่าถ้าตอบในนี้จะหาไม่เจอ
ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ