กุหลาบขาวเบ่งบานเหนือสวัสดิกะ (ภาคจบ)






เรื่องราวก่อนหน้านี้


9 ธันวาคม 2015 / ฝนตก / 1 ถึง 7 °C

วันนี้อากาศขมุกขมัวและฝนตกปรอย ๆ ตลอดวัน ก็เลยตัดสินใจจำศีลอยู่ที่โรงแรม แล้วนั่งเขียน blog นิราศกางเขนสีขาว ร.ศ. ๒๓๔ แทน ซึ่งการเขียน blog ขนาดยาว พร้อมภาพประกอบ ใช้เวลาอย่างน้อย 20 ชั่วโมง --- นานกว่าที่คิดไว้ในตอนแรกมาก --- สรุป นั่งเขียน นั่งแก้ blog ทั้งวัน ไม่ได้ออกไปชมเมืองเลยแฮะ เหมือนย้ายที่เขียน blog เท่านั้นเอง


วันนี้ก็ยังชีพด้วยร้านขนมปังข้างโรงแรม ออกไปตอนเช้าแล้วซื้อของมาตุนไว้กินตลอดวัน ท้องก็อิ่มด้วยราคาย่อมเยา J


10 ธันวาคม 2015 / แดดออก / -2 ถึง 6 °C

วันนี้อากาศดีมากกกก เหมาะแก่การทำภารกิจที่ยังค้างคาให้จบซะที แต่ก่อนอื่น กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ดังนั้น วันนี้เลยอยากเปลี่ยนบรรยากาศ ไปนั่งทาน brunch ที่ร้าน Cotidiano ที่ได้รับการแนะนำจาก Tripadvisor บรรยากาศร้านค่อนข้างวุ่นวายมากกว่าสงบ เสียงคนคุยกัน เสียงเด็กทารกร้องไห้ และยังมีน้องหมาทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ นั่งสงบเงียบอยู่ใต้โต๊ะ


เราได้โต๊ะว่างอยู่ตรงกลางร้านพอดี ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นจุดที่เราไม่ค่อยชอบนั่งนัก เพราะจะมีคนเดินผ่านไปมาตลอด เรามักจะชอบนั่งโต๊ะมุม เพื่อที่จะได้คอยสังเกตการณ์ผู้คน และเห็นภาพรวมของสถานที่อยู่ในคลองสายตามากกว่า แต่วันนี้ ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะโต๊ะเต็มเอี๊ยด มีสาวสวยผมบลอนด์นั่งอ่านนิตยสารคนเดียวอยู่ตรงข้ามเรา ซึ่งระหว่างที่รอสั่งอาหาร เราก็นั่งอ่านหนังสือที่ซื้อมาเมื่อวานต่อ



อาหารค่อนข้างดี ถึงดีมากสมราคาที่ค่อนข้างสูง ที่เราชอบมากคือครัวซองค์ร้อน ๆ พร้อมกับผักสด แดดแรงมาก ทำให้ต้องถอดเสื้อกันหนาวที่ใส่อัดมาหลายชั้น



จากนั้นก็เริ่มออกเดินทางไปยังสุสานของเหล่าพันธมิตรกุหลาบขาวอีกครั้ง เดินทางโดยรถราง สาย 17 เช่นเดิม แค่เปลี่ยนสถานีขึ้น เป็น Müllerstraße แทน ซึ่งค่อนข้างว่าง ทำให้เรามีที่นั่งอ่านหนังสือสลับกับมองทิวทัศน์สองข้างทางไปด้วย


เมื่อถึงสถานีปลายทาง สิ่งแรกที่ทำคือมองหาร้านขายดอกไม้ - จะมีอะไรเหมาะไปกว่าการไปคารวะพันธมิตรกุหลาบขาว ด้วยกุหลาบสดสีขาว - และก็อย่างที่คาดการณ์ไว้ ร้านขายดอกไม้ขนาดกลางตั้งอยู่เยื้องไปทางซ้ายของรถรางนั่นเอง เราก็ได้กุหลาบขาวดอกโตมาหนึ่งดอกในราคา 5€


เมื่อถึงที่หมาย ก็เริ่มศึกษาแผนผังอย่างละเอียด พบว่าเป้าหมายของเราอยู่เกือบสุดของอีกด้านหนึ่งของสุสาน และก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องในการกลับไปก่อนในครั้งที่แล้ว เพราะต้องเดินอีกไกลเชียวล่ะ หันหลังกลับมาด้านตรงข้ามก็จะพบเทียนที่ขายไว้สำหรับจุดไว้อาลัย มีหลากหลายขนาด ตอนแรกก็คิดจะซื้อไปจุดไว้อาลัย แต่ก็นึกขึ้นได้ว่าเราไม่มีไม้ขีดไฟหรือไฟแช็ค เพราะมาเดี่ยว หากเจ้าเพื่อนสนิทที่จะมาถึงวันพรุ่งนี้มาด้วย ก็คงไม่เป็นปัญหา เพราะเค้าสูบบุหรี่อยู่แล้ว เลยเดินต่อไปพร้อมกับกุหลาบขาวในมือที่ทางร้านห่อกระดาษไว้อย่างดี เพื่อกันอากาศที่หนาวเหน็บ 

เนื่องจากวันนี้อากาศดี สุสานเลยดูเป็นมิตรมากขึ้น และเจอชาวเยอรมันบ้างประปราย ซึ่งเพื่อนชาวเยอรมันเคยบอกว่า จริง ๆ แล้วสุสานบางแห่งก็ทำหน้าที่เสมือนสวนสาธารณะกลาย ๆ เพราะเงียบสงบ และเหมาะกับการมานั่งพักผ่อน ทำสมาธิ หรืออ่านหนังสือ ระหว่างทางก็เจอหลุมศพที่ตกแต่งอย่างอลังการ บางหลุมก็เก่าแก่และทรุดโทรมไปมาก  ซึ่งทำให้เราคิดว่าหากมาที่นี่ช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อน คงจะสวยกว่านี้ เพราะต้นไม้คงเป็นสีเขียวชอุ่ม และดอกไม้คงบานสะพรั่งมากกว่านี้


ในที่สุดก็เจอที่พำนักสุดท้ายของพวกเขาจนได้


หลุมฝังศพของทั้งสาม ค่อนข้างสะอาดสะอ้าน มีก้อนหินก้อนเล็กก้อนน้อยวางอยู่บนไม้กางเขนที่สลักชื่อของทั้งสาม แทนการระลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญของพวกเขา

ตอนแรกก็คิดอยู่ว่าจะเอากุหลาบขาววางไว้ตรงไหนดี พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นแจกันพลาสติกสีเขียวเข้มหลากหลายขนาดวางกองอยู่ตรงมุม ก็เลยหยิบอันเล็กที่สุดมา นำมาปักไว้ตรงหน้าป้ายหลุมศพของ Sophie แล้วก็เอาน้ำดื่มที่พกมาในเป้ เทใส่ลงไป ตามด้วยกุหลาบขาว เป็นอันเสร็จพิธี


หลังจากจัดการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เวลายืนสงบนิ่ง แล้วเจริญภาวนาช่วงสั้น ๆ โดยเฝ้ามองลมหายใจที่เคลื่อนเข้าออกตามปกติ
จากนั้น ก็ทบทวนถึงเรื่องราวของ Sophie Scholl
จากทั้งภาพยนตร์ที่เคยดู ...
จากหนังสือที่เคยอ่าน ...
น้ำตาก็ค่อย ๆ ซึมออกมา


ในบรรดาบุคคลที่เรายกเป็น role model หรือ idol ในระดับปรมัตถะ คงไม่พ้น พระพุทธองค์ แต่ในระดับคนปกติเดินดิน Sophie Scholl เป็นหนึ่งในนั้น

เราชื่นชมความกล้าหาญและความยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องจนถึงวาระสุดท้าย ทั้ง ๆ ที่เธอมีอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น เราไม่ค่อยอินหรืออ่อนไหวจนหลั่งน้ำตาไปกับเรื่องราวความรักระหว่างคู่รัก เพราะเรามองว่าความรักแบบนั้น ยังเป็นความรักที่ค่อนข้างคับแคบ ต่างจากความรักที่มีต่อประเทศชาติ ต่อมนุษยชาติ หรือต่อความถูกต้อง ที่ไม่เจาะจงผู้รับ ทั้งยังแผ่กว้างออกไปอย่างไม่มีขอบเขต ความรักแบบนี้ สามารถสั่นสะเทือนจิตวิญญาณของเรา และยังให้พลังงานในการดำเนินชีวิตต่ออย่างมีเกียรติและกล้าหาญ 

ประโยคที่ทรงพลังของ Sophie ที่เราชอบมากในตอนที่ถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ Gestapo - Robert Mohr ในภาพยนตร์ Sophie Scholl: The Final Days (2006) คือ


„Das Gesetz ändert sich. Das Gewissen nicht.“
„Law is changing, conscience stays.“
กฎหมายเปลี่ยนแปลง (ตามผู้ปกครอง) ศีลธรรมไม่เคยเปลี่ยน


Die Weiße Rose ไม่ใช่ “องค์กร” ใต้ดิน หากแต่เป็นกลุ่มคนที่เป็น “เพื่อน” กันมานาน แล้วมีความเห็นตรงกันว่าสิ่งที่ฮิตเลอร์ทำอยู่นั้นไม่ถูกต้อง โดย Die Weiße Rose แห่งกรุงมิวนิคนั้น ประกอบด้วยสมาชิกหลัก ๆ คือ

Alexander Schmorell
Sophie Scholl
Hans Scholl
Willi Graf
Prof. Dr. Kurt Huber
และ 
Christoph Probst

ทั้งหมดเคลื่อนไหวต่อต้านนาซีโดยปราศจากความรุนแรงในช่วงปี 1942-1943 และทุกคนถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยกิโยติน โทษฐานเป็นกบฎต่ออาณาจักรไรซ์ที่สาม ด้วยการเรียกร้องให้ชาวเยอรมันออกมาต่อต้านฮิตเลอร์ผ่านทางใบปลิวทั้งหมดหกฉบับ ที่ส่งไปทั่วเยอรมนีและออสเตรียทางไปรษณีย์ และฉบับสุดท้ายด้วยการวางไว้ตามมุมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย LMU

Alexander Schmorell, Christoph Probst, Hans Scholl และ Willi Graf เป็นนักศึกษาแพทย์ ในขณะที่ Prof. Dr. Kurt Huber เป็นอาจารย์สอนด้านปรัชญาและดนตรีที่ LMU ส่วนสมาชิกหญิงเพียงคนเดียว Sophie Scholl เข้าร่วมกับกลุ่มนี้ผ่านทางพี่ชายของเธอนั่นเอง

จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวต่อต้านเริ่มมาจาก ชายหนุ่มสมาชิกของพันธมิตรกุหลาบขาวสังเกตเห็นการใช้แรงงานหญิงชาวยิวอย่างไร้มนุษยธรรม และได้ยินการประหารหมู่ของผู้คนบริสุทธ์จำนวนมาก นอกจากนี้ ตัว Sophie เองก็รู้มาว่าในกรุงมิวนิค เด็กพิการทางสมองก็จะถูกรับตัวขึ้นรถบัสไปและไม่ได้กลับมาอีกเลย

ใบปลิวฉบับที่ห้า ถูกพิมพ์ขึ้นเป็นจำนวน 6,000-9,000 ใบ และกระจายไปทั่วเยอรมนีตอนใต้และออสเตรีย โดยในฉบับนี้ พวกเขาตั้งคำถามกับชาวเยอรมันว่า

ชาวเยอรมันทั้งหลาย! พวกท่านอยากให้ลูกหลานของพวกท่านประสบกับชะตากรรมเดียวกันกับชาวยิวหรือ? (...) หากพวกเราไม่ทำอะไรเพื่อต่อต้านฮิตเลอร์ พวกเราจะถูกเกลียดชังจากชาวโลกไปตลอดกาล

ใบปลิวฉบับที่หก ร่างโดย Prof. Huber เป็นใบที่ทำให้สองพี่น้อง Scholl ถูกจับกุม เนื้อหากล่าวถึงสงคราม ณ กรุง Stalingrad ที่ส่งผลให้ทหารชาวเยอรมันล้มตายไปกว่า 300,000 คน

ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1943 ผู้ดูแลมหาวิทยาลัยจับสองพี่น้อง Scholl ได้ ขณะที่พวกเขากำลังกระจายใบปลิวเหล่านั้นใน Lichthof ของ LMU และส่งตัวทั้งสองให้กับ Gestapo

สี่วันถัดมา ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พวกเขาก็ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยกิโยติน พร้อมกับ Christoph Probst พ่อของลูกอีกสามคน ผู้ซึ่งสองพี่น้องพยายามปกป้องไม่ให้ถูกตัดสินประหาร แต่เนื่องจาก Gestapo มีหลักฐานมัดตัวแน่น นั่นก็คือฉบับร่างของใบปลิวฉบับที่หกที่เขียนด้วยลายมือของ Christoph ซึ่ง Hans พกติดตัวไว้ตอนที่ถูกจับนั่นเอง

สองพี่น้อง Scholl กับ Christoph Probst (http://www.millthorpeschool.co.uk/millthorpe/wp-content/uploads/weisse_rose_bdaj.jpg)

ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน สมาชิก 14 คนของพันธมิตรกุหลาบขาวก็ถูกจับกุม โดย Alexander Schmorell ถูกตัดสินประหาร พร้อมกับ Willi Graf และ Prof. Kurt Hubert ที่เหลือได้รับโทษจำคุก

ในระหว่างที่ถูกสอบสวนนี้ เจ้าหน้าที่สืบสวนของ Gestapo - Robert Mohr พยายามที่จะช่วย Sophie เลี่ยงโทษประหาร ด้วยการให้การว่าพี่ชายคือ Hans เป็นคนทำทั้งหมด ซึ่ง Sophie ก็ตอบกลับมาด้วยเสียงอันดัง ที่ถูกบันทึกไว้ในเอกสารการสืบสวน ดังนี้


„Ich bin nach wie vor der Meinung, das Beste getan zu haben, was ich gerade jetzt für mein Volk tun konnte. Ich bereue daher meine Handlungsweise nicht und will die Folgen, 
die daraus erwachsen, auf mich nehmen.“

„ฉันยืนยันเหมือนอย่างที่ให้การไปแล้ว ว่าฉันได้ทำสิ่งที่ดีที่สุด 
ที่ฉันสามารถทำเพื่อเพื่อนร่วมชาติของฉันได้ในตอนนี้ 
และฉันไม่เสียใจในสิ่งที่ทำลงไป อีกทั้งยินดีที่จะรับผิดชอบผลจากการกระทำนั้นด้วยตนเอง“


หลังการตายของพวกเขา ก็มีกลุ่มนักศึกษาตามเมืองต่าง ๆ ที่สำคัญสานต่อเจตนารมณ์ของคนทั้งหก ด้วยการผลิตใบปลิวฉบับนี้ขึ้นอีกครั้ง และเพิ่มประโยคเข้าไปอีกหนึ่งประโยคว่า


„Und ihr Geist lebt trotzdem weiter.“
„และจิตวิญญาณของพวกเขาก็ยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไป“


ในเดือนกรกฎาคม 1943 Thomas Mann นักเขียนชาวเยอรมันชื่อดัง ได้กล่าวชื่นชมพันธมิตรกุหลาบขาวออกอากาศผ่านทางรายการวิทยุของ BBC และให้คำมั่นว่า


„Ihr sollt nicht umsonst gestorben sein, sollt nicht vergessen sein“
„พวกคุณจะไม่ตายเปล่า และจะไม่ถูกลืม“


หลังจากนั้น ใบปลิวฉบับที่หก ที่ถูกลักลอบนำออกไปยังแผ่นดินอังกฤษ ก็ถูกทำขึ้นมาใหม่มากกว่าล้านฉบับ และเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรก็โปรยปรายใบปลิวเหล่านี้ เหนือปิตุภูมิของ Die weiße Rose เพื่อเป็นการสดุดีถึงความกล้าหาญของเหล่าหนุ่มสาวผู้กล้า และรำลึกถึงความเสียสละของพวกเขาในการต่อต้านจักรวรรดินาซี

 ***




ขอปิดท้าย blog นี้ด้วยคำคมของเหล่าพันธมิตรกุหลาบขาวตามที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ต้องขอแจ้งไว้ ณ ที่นี้ว่า การแปลเป็นภาษาไทยอาจมีข้อผิดพลาด เนื่องจากสาเหตุหลาย ๆ ประการ และยินดีแก้ไขให้ถูกต้องหากมีคำท้วงติงจากผู้อ่านเข้ามานะคะ



Hans Scholl


หลังจากที่ศาลมีคำตัดสินประหาร Hans กล่าวว่า
„Heute hängt ihr uns und morgen werdet ihr es sein!“
„วันนี้พวกแกแขวนคอเรา พรุ่งนี้จะพวกแกก็จะโดนแขวนคอเหมือนกัน!“

และในวินาทีที่ Hans อยู่ใต้กิโยติน คำพูดสุดท้ายที่เค้าเปล่งออกมาคือ
„Es lebe die Freiheit!“
„เสรีภาพจงเจริญ!“
„Es lebe Deutschland!“
„เยอรมนีจงเจริญ!“ 



Sophie Scholl


คำคมที่เธอชอบอ้างถึงอยู่เสมอ เป็นคำคมของ Jacques Maritain นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส
„Man muss einen harten Geist und ein weiches Herz haben!“
„มนุษย์ต้องมีจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง แต่มีหัวใจที่อ่อนโยน!“



Christoph Probst


27 สิงหาคม 1942
„Auch im schlimmsten Wirrwarr kommt es darauf an,
เช่นเดียวกันกับช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวายที่เลวร้ายที่สุด ขึ้นอยู่กับว่า
daß der Einzelne zu seinem Lebensziele kommt,
บุคคลผู้นั้นบรรลุเป้าหมายในชีวิตของเขาหรือยัง
zu seinem Heil kommt,
หลุดพ้นจากบาปหรือยัง
welches nicht in einem äußeren Erreichen gegeben sein kann,
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่สามารถบรรลุได้จากอัตลักษณ์ภายนอก
sondern nur in der inneren Vollendung seiner Person.
หากแต่เป็นความสมบูรณ์แบบที่อยู่ภายในตัวตนของคนคนนั้น“



Prof. Dr. Kurt Huber


ระหว่างการให้การในศาล ในวันที่ 19 เมษายน 1943
„Als deutscher Staatsbürger,
ในฐานะพลเมือง
als deutscher Hochschullehrer
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยเยอรมัน
und als politischer Mensch
และในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ใส่ใจเรื่องการเมือง
erachte ich es als Recht nicht nur,
ผมตระหนักถึงทั้งสิทธิ
sondern als sittliche Pflicht,
และหน้าที่ด้านศีลธรรม
an der politischen Gestaltung der deutschen Geschicke mitzuarbeiten,
ในการร่วมสร้างรูปแบบการปกครองของชาวเยอรมัน
offenkundige Schäden aufzudecken
ในการค้นหาความผิดพลาดที่เห็นได้อย่างเด่นชัด
und zu bekämpfen.
และการลุกขึ้นสู้“



Willi Graf


ในจดหมายที่เขียนถึงน้องสาว Anneliese ลงวันที่ 6 มิถุนายน 1942
„Jeder Einzelne trägt die ganze Verantwortung.
ทุกคนต่างมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ
Für uns aber ist die Pflicht,
แต่สำหรับพวกเรามันเป็นหน้าที่
dem Zweifel zu begegnen
ในการเผชิญหน้ากับสิ่งที่น่าเคลือบแคลง
und irgendwann eine eindeutige Richtung einzuschlagen.
และชี้นำทิศทางที่ถูกต้อง เมื่อเวลานั้นมาถึง“



Alexander Schmorell


ก่อนการประหาร
„Ich wüßte nicht, was ich noch auf dieser Welt zu tun hätte.“
„ผมไม่รู้ว่า ผมมีอะไรต้องทำอีกในโลกใบนี้“



ลายมือของ Sophie เขียนว่า „Freiheit หรือ เสรีภาพ“ ด้านหลังเอกสารคำพิพากษาของเธอ by Ausstellungskatalog Weiße Rose Stiftung e.V.




อ้างอิง







Kommentare

Beliebte Posts aus diesem Blog

ส่งสัมภาระเกือบ 400 กิโลกรัมจากเยอรมันกลับไทยแบบ DIY

ลองมาทำ Résumé เก๋ ๆ ด้วย Powerpoint ดูนะคะ

เหรียญสองด้านของการเป็น Au pair ในต่างแดน