กุหลาบขาวเบ่งบานเหนือสวัสดิกะ (ภาคต้น)
เรื่องราวก่อนหน้านี้
นิราศกางเขนสีขาว ร.ศ. ๒๓๔
หลังจากพักผ่อนเพียงพอแล้ว ก็เริ่มต้นสะสางภารกิจ สิ่งแรกคือ shopping
list ของ trip นี้ ประกอบด้วย กระเป๋า Freitag ที่มีต้นกำเนิดจากสองพี่น้องตระกูล Freitag
แห่งกรุง Zürich สวิสเซอร์แลนด์ แต่เนื่องจากระหว่างเปลี่ยนพาหนะจากรถไฟเป็นรถบัส
มีเวลาไม่พอที่จะไปเดินเล่นในเมือง และไม่อยากฝากกระเป๋าด้วย
เพราะทุกอย่างในประเทศนี้แพงแบบไร้เหตุผลมาก ๆ ดังนั้น ภารกิจแรกคือหาร้านที่ขาย
Freitag ซึ่งเราลอง search ใน Internet ก็พบร้าน Magazin อยู่ใน Fünf Höfe เมื่อล็อกเป้าหมายแล้ว
ก็เริ่มออกเดินทางไปค้นหากระเป๋า Freitag ได้แล้ว!
ระหว่างทางไปขึ้น
S-Bahn ก็จะเจอขบวนเด็กน้อย เรียงแถวกันไปทัศนศึกษาฤดูหนาว
โดยมีคุณครูพี่เลี้ยงประมาณสามคนคอยดูแล ซึ่งเด็ก ๆ แต่ละคนจะมี partner ของตัวเอง
และต้องจับมือกันไว้ตลอด เพื่อกันหลง ที่เราชอบมากคือเด็ก
ๆ ทุกคนจะสะพายกระเป๋าเป้ของตัวเอง พร้อมกระติกน้ำดื่ม พอเข้าไปในขบวนรถไฟ
คุณครูก็จะหาที่นั่งให้น้อง ๆ แต่ถ้าที่นั่งไม่พอ ก็จะบอกให้น้อง ๆ เกาะเสาไว้ เมื่อถึงสถานีปลายทาง เด็ก ๆ ก็จะจัดแถว พร้อมกับจับมือ partner เตรียมพร้อมเดินลงบันไดในสถานีรถไฟ ซึ่งน้อง ๆ ก็เดินเรียงแถวกันอย่างเป็นระเบียบ น่ารักมากมาย
เราก็นั่งรถไฟต่อจนถึงสถานี Marienplatz -
จตุรัสกลางกรุงมิวนิค ที่เป็นศูนย์กลางของเมืองมาตั้งแต่ปี 1158 ยุคกลางของยุโรป (พ.ศ.
1701 ยุคก่อนกรุงสุโขทัยและอาณาจักรขอมกำลังเรืองอำนาจ) - โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนเกลียดฤดูหนาวมาก
เพราะฉะนั้นจะหลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอกในช่วงนี้
ตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนและทำงานอยู่ที่เยอรมนี แต่คราวนี้เป็นภาคบังคับ
เพราะเพื่อนสนิทแต่งงาน
Marienplatz by Bayerisches Hauptstaatsarchiv Bilderslg. 3. Reich, Bd. 3 Nr. 263
อย่างไรก็ตาม ในความร้ายก็มีความดี
คือฤดูหนาวช่วงก่อนคริสต์มาส จะเป็นช่วงที่คนเยอรมัน - ที่ปกติจะประหยัดมาก - จะออกมาจับจ่ายซื้อของ
เพราะเป็นภาคบังคับ และดูจะมีความสุขมากกว่าในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์หลังเทศกาลเฉลิมฉลองสิ้นปี
ดังนั้น เราจะเห็นผู้คนออกมาเดินเล่นในเมือง โดยเฉพาะเด็ก ๆ
จะสนุกสนานกับตลาดคริสต์มาสหรือ Weihnachtsmarkt มาก ซึ่งทุกเมือง
ไม่ว่าเมืองเล็กเมืองน้อยก็จะมีตลาดแบบนี้อยู่ ซึ่งลักษณะจะดูเหมือนตลาดนัดขายของในบ้านเรา
แต่ที่ไม่คล้ายคลึงอย่างมากคือของที่ขายใน Weihnachtsmarkt ราคาไม่ถูกอย่างแรง เพราะงั้น
... เดินชมเอาบรรยากาศแล้วไปซื้อที่อื่นดีกว่านะคะ
ของเล่น(?)หรือของตกแต่งที่เราอยากได้มานาน แต่ไม่รู้จะขนส่งกลับไทยยังไง
ก็คืออันที่เหมือนคอปเตอร์ไม้ไผ่ของโดราเอมอนน่ะค่ะ หรือที่เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า Weihnachtspyramide
หรือ Christmas pyramids ซึ่งประวัติของเจ้า Weihnachtspyramide นั้น สามารถย้อนกลับไปถึงยุคกลางของยุโรป
(อีกแล้ว ของที่นี่เก่าแก่จริง ๆ) โดยมีแหล่งกำเนิดจาก Erzgebirge หรือ Ore
Mountains ซึ่งเป็นเทือกเขาที่กั้นพรมแดนเยอรมนีกับสาธารณรัฐเช็ก เราจำได้ว่าทุกครั้งที่ไปอยู่กับครอบครัวชาวเยอรมันช่วงคริสต์มาสก็จะเห็นเจ้าสิ่งนี้อยู่ประจำบ้านเกือบทุกหลัง
การทำงานของมันก็ใช้หลักพลศาสตร์ โดยการจุดเทียนไขไว้รอบ ๆ Weihnachtspyramide
ซึ่งอากาศที่ร้อนจากเทียนไขก็จะทำให้เกิดลม ทำให้กังหันที่อยู่ด้านบนเริ่มหมุน
และส่งผลให้ตัวตุ๊กตาที่อยู่ตรงกลางของ Weihnachtspyramide ก็จะหมุนตามไปด้วยในที่สุด
เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เยอรมั๊นเยอรมันจริง ๆ
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรพึงระวังคือเรื่องฟืนไฟ ต้องมีคนคอยดูเทียนไขที่จุดไว้เสมอ
เพราะมักจะเกิดเหตุเพลิงไหม้ช่วงคริสต์มาสเนื่องจากการจุดเทียนค่อนข้างบ่อย
เดินหาร้านขายกระเป๋า Freitag อยู่เกือบครึ่งชั่วโมงกว่าจะเจอ
ที่อยากได้กระเป๋ายี่ห้อนี้
เพราะชอบแนวคิดของเค้าในการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาทำกระเป๋าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและดูมีสไตล์เฉพาะตัว
ส่วนประกอบหลักของกระเป๋ามาจากของที่ใช้แล้วจนหมดอายุการใช้งาน ได้แก่ (1) ผ้าใบรถบรรทุก
(2) เข็มขัดนิรภัย (3) ยางรถจักรยานด้านใน
การใช้งานก็ตามนี้เลยค่ะ
F303 HAZZARD
F261 MAURICE
จากนั้น ก็เริ่มเดินเล่นในตัวเมือง จากแถว Marienplatz เราเดินมาเรื่อย
ๆ จนถึง Theatinerkirche ที่มีต้นสนขนาดกะทัดรัดวางขายให้เลือกซื้อกลับไปตกแต่งที่บ้าน
จากนั้น ก็เลี้ยวขวาเข้า Hofgarten ที่เมื่อครั้งที่แล้วที่มาเมืองนี้ ก็เจอศิลปินลากแกรนด์เปียโนมาเปิดการแสดงในโดมนี้
เดินเท้าต่อเนื่องไปยัง Englischer Garten สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สุดของกรุงมิวนิค
น้ำที่นี่ใสแจ๋วอีกแล้ว คุณเป็ดก็แหวกว่ายทวนกระแสน้ำเชี่ยว
ระหว่างที่เราเจอมุมเหมาะ ๆ ในการนั่งจัดการอาหารกลางวันที่เหลือมาจากมื้อเช้า
ระหว่างนั้นก็มีน้องหมาเข้ามาอ้อน
เพราะเจ้านายของเธอกำลังเม้าท์มอยกับเพื่อนสาวแบบไม่สนใจเล่นโยนไม้กับน้องหมา
ส่วนเจ้าหมาตัวอื่น ๆ อย่างโกลเด้น (แต่ขนสีดำ?) ตัวนี้
ก็ดูสนุกสนานกับการลงไปเล่นน้ำ ที่ดูแล้วอุณหภูมิน่าจะต่ำกว่า 5 องศาแน่ ๆ แค่คิดก็สยองแล้วอ่ะ
เมื่อท้องอิ่มแล้วก็ได้เวลาอ่านหนังสือย่อยอาหารริมแม่น้ำ
ใต้แดดอุ่น ๆ คราวนี้ เอางานของเฮียมู Hear the Wind Sing / Pinball 1973 ฉบับภาษาเยอรมัน
ที่ออกแบบปกได้วิจิตรตระการตามาก ติดกระเป๋ามาอ่านด้วย
การมามิวนิคครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้
เพราะมาค่อนข้างบ่อย ทั้งงานราษฎร์และงานหลวง แต่ทุกครั้งจะเป็นการพาเพื่อนหรือครอบครัวไปตามจุดท่องเที่ยวขึ้นชื่อ
ไม่ได้มีเวลามาดูเรื่องวัฒนธรรม ดังนั้น เป้าหมายของการมามิวนิคครั้งนี้ จึงเน้นไปที่การตามรอย
„พันธมิตรกุหลาบขาว“ หรือ „Die weiße Rose“ หรือ „The White Rose“ ที่มีพี่น้องตระกูล
Scholl เป็นหนึ่งในแกนนำของกลุ่มค่ะ
เราเดินออกจาก Englischer Garten แล้วมุ่งหน้าไปสู่ Ludwig-Maximilians-Universität
(LMU) München ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1472 (พ.ศ. 2015) ในปีนี้ ก็มีอายุ 544 ปีพอดิบพอดี
เมื่อเดินไปถึง Lichthof (Licht = แสง และ Hof = โถง) หรือโถงกลางของ LMU ที่มีแสงแดดสาดส่อง ตามช่องแสงที่ได้รับการออกแบบมาอย่างลงตัว เราสัมผัสได้ถึงความเก่าแก่ และทุกอย่างได้รับการอนุรักษ์ไว้ เหมือนในรูปถ่ายเก่า ๆ ที่เห็นในหอรำลึกพันธมิตรกุหลาบขาว
เมื่อเดินไปถึง Lichthof (Licht = แสง และ Hof = โถง) หรือโถงกลางของ LMU ที่มีแสงแดดสาดส่อง ตามช่องแสงที่ได้รับการออกแบบมาอย่างลงตัว เราสัมผัสได้ถึงความเก่าแก่ และทุกอย่างได้รับการอนุรักษ์ไว้ เหมือนในรูปถ่ายเก่า ๆ ที่เห็นในหอรำลึกพันธมิตรกุหลาบขาว
หอรำลึกนี้อยู่ด้านหลังของ Lichthof ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูปด้านใน
ในฐานะหนอนหนังสือ เราได้ซื้อหนังสือมาสองเล่ม ที่เล่าเรื่องราวของพันธมิตรกุหลาบขาว
ในฐานะหนอนหนังสือ เราได้ซื้อหนังสือมาสองเล่ม ที่เล่าเรื่องราวของพันธมิตรกุหลาบขาว
เล่มแรกเป็นเรื่องราวของ Sophie Scholl ในรูปแบบเนื้อเรื่องประกอบภาพ เหมาะสำหรับคนที่ไม่อยากอ่านหนังสือที่เต็มไปด้วยตัวอักษรมาก ๆ
ส่วนเล่มที่สอง เป็นเรื่องราวของสมาชิกของพันธมิตรกุหลาบขาว ที่น่าสนใจมากเสียจนต้องอุทิศพื้นที่ทั้ง blog ให้กับพวกเขาจะเหมาะสมกว่า
เนื่องจากตั้งใจที่จะตามรอยพี่น้องตระกูล Scholl
ให้ถึงที่สุด ก็เลยได้พูดคุยกับผู้ดูแลหอรำลึก ซึ่งเป็นคุณตาผมสีดอกเลา แกก็ถามว่าทำไมถึงสนใจ?
กำลังเรียนเรื่องนี้อยู่เหรอ? ทำให้เราอมยิ้มว่าสามารถเนียนเป็นนักศึกษาได้อยู่ ถึงแม้อายุจะเกินไปเยอะ
J ซึ่งเราก็ตอบไปว่าสนใจเป็นการส่วนตัว และอยากไปแสดงความเคารพพวกเขายังที่พำนักสุดท้าย
คุณตาก็บอกว่าพวกเขาถูกฝังอยู่ที่ Friedhof am Perlacher Forst ซึ่งอยู่ทางใต้ของกรุงมิวนิค
พอได้ยินเช่นนั้น ก็ตรงไปยัง Starbucks สาขา Odeonplatz เพื่อหา wifi ฟรี จัดการดูเส้นทางเสร็จ
ก็คิดว่าน่าจะถึงเป้าหมายตอน 16.30
การเดินทางไปยังสุสานที่ฝังศพของ Hans และ Sophie Scholl
รวมทั้ง Chistoph Probst และ Alexander Schmorell นั้นค่อนข้างสะดวกสบาย นั่งรถราง
สาย 17 จนสุดสาย แล้วเดินเท้าต่ออีกนิดก็จะถึง พอเจอประตูรั้ว
ก็พบว่าสุสานมีเวลาเปิด-ปิด และในฤดูหนาวจะปิดตอน 17.00 ซึ่งขณะนี้ก็เหลือเวลาอีก
20 นาที เมื่อมองไปรอบ ๆ สุสานแห่งนี้ เป็นสุสานที่ใหญ่มาก มีหลุมฝังศพถึง 21,600
หลุม มีพื้นที่ 280,000 ตร.ม.
คือ แค่เห็นขนาดของสุสานก็ตกใจแล้ว และเริ่มบ่นกับตัวเองว่าคิดเอาเองง่าย
ๆ ว่าหลุมฝังศพจะเหมือนอนุสาวรีย์ ที่มาถึงปุ๊บ
ก็จะเห็นหลุมศพของพันธมิตรกุหลาบขาวทันที แต่ความเป็นจริงคือ
ต้องเดินหาว่าหลุมศพนั้นอยู่ตรงไหนบ้าง? เพราะมันก็เริ่มมืด
เราก็เลยไม่ได้ตั้งใจจะศึกษาแผนผังอย่างละเอียด และเดินไปแบบไร้เข็มทิศ
แต่เอาตึกรูปร่างโดมที่อยู่ตรงหน้าเป็นเป้าหมาย (ถ่ายรูปนี้อย่างลวก ๆ แล้วแต่งภาพเอา) แต่พอไปแล้วก็ไม่เห็นมีคนอยู่ จึงต้องกลับมาตรงจุดเริ่มต้นใหม่ ซึ่งมีแผนผังของหลุมศพทั้งหมด พร้อมเลขที่ คล้าย ๆ
บ้านเลขที่ พอเห็นแผนผังแล้ว ก็เข่าอ่อน เพราะ ณ
เพลานี้ คือโพล้เพล้แล้ว อีกทั้งไม่มีสัญญาณชีพของมนุษย์อยู่ในระยะที่สายตามองเห็น
โดดเดี่ยวอยู่ท่ามกลางหลุมศพมากมาย
หากเราเดินหาตอนนี้ แล้วกลับมาไม่ทันเวลาประตูปิด ก็คงไม่พ้นต้องหาทางปีนประตูรั้วออกไป --- คือ ผีไม่ได้กลัวเท่าไหร่ แต่การถูกขังอยู่ในที่เปิดโล่งตลอดคืนนี่ อาจหนาวตายได้ - เพิ่งมารู้สึกตัวว่า คิดอะไรอยู่ถึงตัดสินใจจะมาเคารพหลุมศพตอนเย็น -_-
อย่ากระนั้นเลย ถอยทัพดีกว่า แล้วค่อยมาใหม่ตอนเช้า
ที่พระอาทิตย์สาดแสงและอากาศดีกว่านี้
สรุป วันนี้ภารกิจที่สองไม่สำเร็จ
นั่งรถรางกลับทางเดิม แล้วหาของกินแถว Weihnachtsmarkt ตอนแรกก็ว่าจะกิน
Currywurst ซะหน่อย เพราะไม่ได้กินนานแล้ว เจ้า Currywurst อันนี้ ก็เป็นอาหาร
fastfood ของที่นี่ ซึ่งก็ตรงตัวตามชื่อคือ Curry = แกง และ Wurst = ไส้กรอก นั่นก็คือ ไส้กรอกย่างราดด้วยซอสมะเขือเทศที่ผสมผงกระหรี่เข้าไปด้วย
ระหว่างที่ต่อคิว ก็เห็นคุณผู้ชายข้างหน้า สั่ง Fleischspieße (Fleisch = เนื้อ
และ Spieß = ไม้ปลายแหลม) ซึ่งมีลักษณะเหมือนบาร์บีคิว
แต่แทนที่จะราดด้วยซอสพริกหรือซอสมะเขือเทศ ก็เปลี่ยนเป็นซอสแกงกระหรี่แทน
ในที่สุดก็ได้อาหารเย็นในสนนราคาประมาณ 5€ พร้อมค่ามัดจำจานอีก
2€ เมื่อนำจานไปคืนหลังทานเสร็จก็จะได้ 2€ กลับคืนมา เป็นการลดขยะที่เกิดจากจานกระดาษที่ดีอีกวิธีหนึ่ง
เดินชมเมืองมิวนิคยามค่ำคืน ก่อนเดินทางกลับที่พัก
Gute Nacht München!
ตอนต่อไป
Kommentare
Kommentar veröffentlichen