Der Fall Collini - เส้นกั้นระหว่างเหยื่อและฆาตกร หน้าที่ของทนายความ กับช่องโหว่ของกฎหมาย



Der Fall Collini (คดีโคลลินี) by Ferdinand von Schirach 


นี่เป็นหนังสือเล่มที่สองของ von Schirach ต่อจาก “สะพรึง Terror” ที่เพิ่งอ่านจบไปเมื่อไม่นานมานี้

http://chronicleofphaiy.blogspot.com/2022/03/terror-ferdinand-von-schirach.html 

.

ฉากของเนื้อเรื่องยังคงเป็นการเล่นละครในศาล ระหว่างอัยการมือเก๋า กับทนายความมือใหม่ ที่ไม่ต้องพิสูจน์ว่า “ลูกความ” เป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะหลักฐานแน่นหนาและผู้ต้องหาก็รับสารภาพ แต่เป็นการเดินทางลึกเข้าไปข้างในจิตใจของ Collini ผู้ต้องหาชาวอิตาลี ถึง #แรงจูงใจ ในการฆาตกรรมที่โหดเหี้ยม ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมอยู่เลย

.

เส้นเรื่องหลักมีอยู่เท่านี้ แต่เส้นเรื่องรอง ก็น่าสนใจมากเช่นกัน


  • เมื่อลูกความ ไม่ยอมต่อสู้ ไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล ทนายความควรทำอย่างไร?

  • เมื่อทนายความมีความสัมพันธ์ส่วนตัวใกล้ชิดกับเหยื่อ ทนายยังควรรับหน้าที่ว่าความให้กับผู้ต้องหาที่ฆ่าเหยื่อหรือไม่?

  • เมื่อกฎหมายเปลี่ยนไปตามผู้ปกครองที่ปราศจากจริยธรรม สังคมควรจะมีปฏิกิริยาอย่างไร?


หนังสือเล่มไม่หนามาก (193 หน้า) อ่านได้เรื่อย ๆ แบบทีละบท หรือจะอ่านรวดเดียวจบ ก็สามารถทำได้ เอาเป็นว่าตอนที่อ่านจบ น้ำตาซึม เลยยยยย

.

เหมาะกับคนที่สนใจเรื่องกฎหมาย ชอบนิยายสืบสวนสอบสวนที่ไม่เยิ่นเย้อ​ การเปิดเผยปมเรื่องมีตกใจได้อยู่ ถ้าไม่รู้สปอยมาก่อน อ่านจบแล้วจะต้องไปหาข้อมูลเพิ่มว่าเรื่องที่อยู่ในนิยาย เกิดขึ้นจริงหรือไม่

.

.

ต่อจากนี้ spoiler alert นะคะ

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

ตอนอ่านแรก ๆ ก็แอบคิดว่า Collini คงถูกคู่แข่งทางธุรกิจจ้างวานให้มาฆ่า Meyer แล้วคงเป็นการต่อสู้ทางกฎหมาย คล้าย ๆ แบบ Girl with the dragon tattoo แต่พอเรื่องคลี่คลายออกมา เรานี่แบบ 

.

.

นะ นาซีอีกแล้วเหรอ? 

.

เรื่องเล่าร่วมสมัยในปัจจุบันทั้งในรูปแบบหนังสือ ภาพยนตร์ เพลง ภาพวาด มีรากมาจากคนกลุ่มนี้เยอะจริง ๆ ถ้าโลกนี้ไม่มีนาซี หนังสือ ภาพยนตร์ คงหายไปเกินครึ่ง เพราะการกระทำของพวกเขาได้สร้างบาดแผลให้กับโลกนี้มากเหลือเกิน ได้แต่หวังว่า เราจะได้เรียนรู้จากพวกเขา โดยไม่ต้องทำซ้ำความผิดพลาดเดิม ๆ อีก รู้สึก surreal ทุกครั้งเวลาที่มีคนสนับสนุนการกระทำหรือแนวคิดของนาซีในปัจจุบัน บวกกับสถานการณ์การรุกราน Ukraine ตอนนี้ด้วยแล้ว ก็ได้แต่ถอนหายใจจริง ๆ 

.

.

ฉากที่บรรยายการลอบสังหารนายทหารของนาซีในร้านกาแฟ อ่านแล้วนึกถึงฉากในผับใต้ดินของ inglourious basterds เอามาก ๆ

.

การตอบโต้ของนาซี เมื่อมีการลอบสังหารนายทหาร คือ การประหารพลเรือน เป็นสัดส่วน 1:10 คือถ้านายทหารตายหนึ่งคน จะจับเชลยศึกที่เป็นพลเรือนมาประหาร 10 คน

.

มีการพูดถึง rules of war ที่ทั้งฝ่ายอักษะและฝ่ายสัมพันธมิตรต่างก็ใช้ นั่นคือ การประหารเชลยศึก ต้องมีเงื่อนไข ดังนี้

  1. ต้องไม่ประหารผู้หญิงและเด็ก

  2. ต้องไม่มีการทรมานเชลยศึกก่อนการประหาร

  3. ต้องเปิดเผยการประหารต่อสาธารณชน

แต่ในความเป็นจริงมันเป็นแบบนั้นจริงหรือ?

.

กลางดึกเชลยศึกถูกปลุกให้แต่งตัว 

.

“ทิ้งข้าวของไว้ในห้องขัง แล้วเดี๋ยวจะส่งตามไปให้” 

.

เพียงเท่านี้ ทั้ง 20 คน ก็รู้แล้วว่า เราคงไม่ได้กลับมาอีก แบบเดียวกับการบอกให้คนยิวแก้ผ้าให้หมด เพราะจะพาไปอาบน้ำในค่ายกักกันนั่นเอง (เคยไปดูค่ายกักกันที่ Auschwitz และ Dachau มาแล้ว สัมผัสได้ถึงความหดหู่ ทรมานขั้นสุด แบบไปนั่งในสุสานเทียบไม่ได้เลย)

.

ที่น่าสนใจคือการตีความ “การทรมาน” เราอาจจะคิดถึงการนำเชลยมาเฆี่ยนตี บังคับให้อดหลับอดนอน จับใส่โซ่ตรวนตลอดเวลา แต่ลองจินตนาการถึงเหตุการณ์ในช่วงสุดท้ายของเชลย 20 คนเหล่านั้น ว่า

  • ถูกปลุกให้แต่งตัวกลางดึก แล้วให้ทิ้งของไว้ จะส่งตามไปให้ทีหลัง

  • ถูกบังคับให้นั่งรถบรรทุกเป็นเวลาหลายชั่วโมง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ากำลังมุ่งหน้าสู่แดนประหาร

  • ถูกสั่งให้ยืนเรียงแถวตรงปากหลุม ทีละ 5 คน

  • ถูกปล่อยให้ยืนมองเหล่าศพที่กองอยู่ในหลุมโดยไม่มีผ้าปิดตา ที่ซึ่งตัวเองก็จะลงไปอยู่ด้วยในไม่ช้า

  • ถูกปล่อยให้เผชิญหน้ากับปากกระบอกปืนที่อยู่ห่างออกไป 5-6 เมตร

  • ถูกปล่อยให้เป็นพยานรับรู้การประหารของเพื่อนร่วมห้องขัง ก่อนที่ตัวเองก็จะตามไป


ไม่มีคำสั่งเสีย ไม่มีคำบอกลา ไม่มีคำอธิบาย หรือแม้แต่บทสวดส่งวิญญาณจากบาทหลวง มีเพียงเสียงลูกกระสุนแล่นผ่านลำกล้องผ่านเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มของกายมนุษย์ แล้ววิญญาณก็หลุดลอย

.

นี่คือการประหารตาม rules of war โดยปราศจากการทรมานสินะ?

.

.

ประโยคที่ชอบในเล่มนี้ (แปลเป็นไทยเอง ไม่สละสลวยนะคะ)

.

“Das war kein Krieg mehr, keine Schlacht, kein Feindkontakt.

Menschen töten andere Menschen, das war alles.”

นี่ไม่ใช่สงคราม ไม่ใช่การรบพุ่ง ไม่ใช่การยิงตอบโต้

แต่เป็นการที่มนุษย์ฆ่ามนุษย์คนอื่น เท่านั้นแหละ

.

“Bei uns sagt man, dass die Toten keine Rache wollen, nur die Lebenden wollen sie.”

พวกเราชาวอิตาเลียนบอกต่อกันมาว่าคนตายไม่เคยต้องการการแก้แค้น มีแต่คนเป็นเท่านั้นล่ะ

.

โดย Collini ตอบว่า ที่เขารอคอยเวลาในการสังหาร Meyer มายาวนานขนาดนี้ เพราะเขารอให้คุณป้าของเขาเสียชีวิตเสียก่อน เพราะคุณป้าคงรับไม่ได้ หากหลานที่เลือกมาทำงานในประเทศของฆาตกร ต้องติดคุกฐานฆาตกรรมในประเทศเยอรมนีอีก

.

“Ich glaube an die Gesetze, und Sie glauben an die Gesellschaft. Wir werden sehen, wer am Ende recht behält.”

ผม (Mattinger) เชื่อในกฎหมาย แต่คุณ (Leinen) เชื่อในมโนธรรมของสังคม เรามารอดูซิว่า ในท้ายที่สุดใครจะเป็นฝ่ายถูก

.

.

.

เกร็ดประวัติศาสตร์ที่แทรกเข้ามาก็คือการประท้วงของเหล่านักศึกษาในปี 1968 ที่เรียกร้องให้พ่อแม่ของพวกเขาต้องรับผิดชอบต่อการ “ปล่อยปละละเลย” ให้นาซีเถลิงอำนาจได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ถูกกล่าวถึงในหนังสือ Der Vorleser (The Reader) ของ Bernhard Schlink เช่นกัน

.

.

Eduard Dreher เป็นบุคคลที่มีอยู่จริงและเป็นคนที่ออกกฎหมายที่ทำให้การกระทำในช่วงสมัยนาซีเรืองอำนาจได้รับโทษเพียงสถานเบาจนถึงไม่ต้องรับโทษแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ ก็มีการทบทวนกฎหมายที่ว่านี้จากทางภาครัฐ 

.

นี่คือตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมว่าทุกคนในสังคมมีบทบาทในการขับเคลื่อน ถ่วงดุล และตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ อันรวมไปถึงการตรากฎหมายและผ่านร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ

.

ดังนั้น ประชาชนทุกคนคะ please use your voice

.

.

โลกนี้มีนาซีแค่ครั้งเดียวพอแล้ว 

.

.

.

ป.ล. นั่งอ่านหนังสือเล่มนี้ ในวันเสาร์เช้าตรงสะพานยอดนิยมของกรุง Heidelberg เมืองมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง และอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของการประท้วงนี้เช่นกัน ระหว่างที่นั่งตากแดดท่ามกลางอุณหภูมิ 3 องศา ก็มีคนเข้ามาทัก มาชวนคุยเรื่องหนังสือที่อ่านด้วย เป็นสิ่งที่ชอบมาก ๆ ในการเอาหนังสือมาอ่านนอกบ้าน






Kommentare

Beliebte Posts aus diesem Blog

ส่งสัมภาระเกือบ 400 กิโลกรัมจากเยอรมันกลับไทยแบบ DIY

เหรียญสองด้านของการเป็น Au pair ในต่างแดน

ลองมาทำ Résumé เก๋ ๆ ด้วย Powerpoint ดูนะคะ