Terror - Ferdinand von Schirach กฎหมาย ปรัชญา กับการชั่งน้ำหนักชีวิตมนุษย์
เป็นเรื่องบังเอิญมาก ๆ ที่ซื้องานของ von Schirach มาประดับชั้นวางไว้แล้ว แต่ยังไม่คิดจะเลื่อนคิวมาอ่านตอนนี้ พอเจอสมาชิกของสมาคม ฯ ป้ายยามา เลยหยิบมาอ่านระหว่างที่กำลังนั่งรถไฟความเร็วสูง ICE เดินทางมุ่งหน้าไปยังกรุง Heidelberg ระยะเวลาประมาณ 90 นาที สำหรับ 145 หน้า ที่แต่ละหน้าตัวอักษรใหญ่มาก อ่านจบตอนรถไฟผ่าน Darmstadt เป็นการอ่านหนังสือ ท่ามกลางควันสงครามคุกรุ่นที่ก่อโดย Putin ก็ขอยืนยัน #StandwithUkraine และขอให้การเจรจาจบลงด้วยดี
บอกเลยว่าเป็นหนังสือที่เหมาะแก่การเอาไป debate ในมหาวิทยาลัยมากกก อ่านแล้วไพล่ไปคิดถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เคยอ่านมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องที่เราชอบ และผู้เขียนมีพื้นเพเหมือนกัน คือ Der Vorleser http://chronicleofphaiy.blogspot.com/2019/07/der-vorleser.html ที่ก่อให้เกิดการถกเถียงมากมาย และตัวผู้เขียนก็เป็นนักกฎหมายเหมือนกัน
เนื้อหาคือการจำลองเหตุการณ์พิจารณาคดีในศาล มาเล่าให้เราฟังเสมือนเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ไปนั่งฟังอยู่ในศาล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ
“นักบินเครื่องบินรบมือหนึ่งของกองทัพเยอรมัน Herr Lars Koch ตัดสินใจยิงเครื่องบินโดยสาร LH2047 บรรทุกพลเรือน ที่มีเด็กน้อยรวมอยู่ด้วย ทั้งหมด 164 ชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินเพื่อจะบินชน Allianz stadium ใน München ที่จุคนดูการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญกว่า 70,000 คน กระทำการได้สำเร็จ”
ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ 911 แต่จำลองมาให้ผู้อ่านถกเถียงกันว่า ถ้ามีคนหนึ่งคนป้องกันไม่ให้การก่อการร้ายสำเร็จ แต่การกระทำนั้นส่งผลให้คนจำนวนหนึ่งเสียชีวิต คนนี้ต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้าง? ในมุมมองของกระบวนการทางกฎหมาย
แนะนำให้อ่านกันเองเพื่อพิจารณาและถกเถียง เพราะหนังสือไม่ได้ให้ข้อสรุป หรือเสนอความจริงสัมบูรณ์อะไร แต่เปิดกว้างให้คนอ่านหาเหตุผลมากกว่า ว่านักบินมือหนึ่งคนนี้
ควรได้รับโทษในการคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์กว่า 164 คน หรือ
ควรได้รับการตัดสินว่าไม่มีความผิด
ตั้งแต่ตรงนี้จะผสมทั้งเนื้อเรื่องและความเห็นของเรานะคะ
ฝั่งอัยการก็ให้เหตุผลว่า ทำไม Herr Lars Koch ต้องได้รับโทษทัณฑ์ โดยมีหลักการคือ
“Leben dürfe niemals gegen Leben abgewogen werden.
ชีวิตคนไม่ควรเอามา trade off เหมือนเป็นตัวเลขทางบัญชี” (ประมาณนี้มั้งนะ แปลไม่ค่อยเก่ง)
อัยการมองว่า มันมีทางเลือกอื่นหรือ scenario อื่นอาจเกิดขึ้นได้มากมาย ที่ทางนักบิน ไม่ต้องเลือกระหว่าง (a) 164 ชีวิตในเครื่องบิน กับ (b) 70,000 ชีวิตที่ Allianz stadium เช่น
แจ้งให้ทางสนามอพยพผู้คน ก็จะทำให้ผู้ก่อการร้าย ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการฆาตกรรมหมู่ได้
มีรายงานว่าผู้โดยสารบางส่วนลุกขึ้นต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย และอาจจะยึดเครื่องบินคืนมาได้แล้วก็ได้ ตอนที่คุณตัดสินใจยิงเครื่องบิน
ในนาทีสุดท้าย ก่อนที่นักบินของเครื่อง LH2047 ที่ถูกจี้ และกำลังนำเครื่องพุ่งชน Stadium เขาอาจจะเปลี่ยนใจ เชิดหัวเครื่องบินขึ้นก็ได้ เมื่อเห็นว่าคนจำนวนมากมายเพียงใดจะต้องตาย
co-pilot อาจจะแย่งอาวุธมาได้
ซึ่งทำให้การที่ Herr Koch ยิงเครื่องบินโดยสารคือการกระทำที่ไม่จำเป็นและเป็นการสังหารหมู่นั่นเอง
ตรงนี้เราว่าอัยการมองเหตุการณ์ในมุมของคนที่มีเวลานั่งคิดทีหลัง นั่งพิจารณาความเป็นไปได้ทีหลัง ไม่ใช่คนที่อยู่ตรงนั้น ตอนเกิดขึ้นจริง ที่เวลาตัดสินใจมีน้อย และวิสัยทัศน์ในการคิดถึง scenario อื่น ๆ มันเป็นไปไม่ได้อ่ะ นอกจากนี้ ทั้งหมดนี้ของอัยการคือการ “คาดการณ์” อ่ะ ไม่ใช่ ข้อเท็จจริง มั้ย ถ้าทั้งหมดไม่เกิดขึ้นเลย คือ Herr Koch ควรปล่อยให้ 70,000+164 ตายไปต่อหน้า แล้วบินประกบเฉย ๆ?
อัยการขยายความการชั่งน้ำหนักชีวิตคนเหมือนตัวเลขในบัญชีที่
“อาาา ตายไป 164 แต่ช่วยได้ 70,000 แบบนี้ก็กำไรเห็น ๆ” เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
โดยยังมีการยกกรณีศึกษาที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินของ Hans Welzel (เราอ่านเจอใน Moral tribes โดย Joshua D. Greene) ที่มีการศึกษาว่า
ถ้าเรานั่งอยู่บนสะพาน และเห็นว่า มีรถไฟเบรคแตกกำลังมุ่งหน้าสู่ชานชาลา และจะทำให้ผู้คนที่รอรถไฟหลายร้อยคนเสียชีวิต แต่ถ้าเราสับรางรถไฟให้เบี่ยงไปในทางแยก ก็จะช่วยคนเหล่านี้ แต่จะทำให้พนักงานรถไฟที่กำลังซ่อมรางอยู่ 5 คน เสียชีวิตแทน
คนส่วนใหญ่จะยินดีที่จะสับรางรถไฟและ trade off ให้คน 5 คนเสียชีวิต และมองว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว
แต่หากเราเปลี่ยนเงื่อนไขเล็กน้อยว่าสับรางไม่ได้ล่ะ มีรางรถไฟรางเดียวมุ่งหน้าสู่ชานชาลา แต่บนสะพานที่เรานั่งอยู่ มีผู้ชายอ้วนมากนั่งอยู่ข้าง ๆ หากเราผลักเขาตกลงบนรางรถไฟ จะสามารถทำให้รถไฟตกราง และหยุดโศกนาฎกรรมได้
ตรงนี้ หากมองในมุมตัวเลข ยิ่งได้กำไรใหญ่เลย เพราะตายแค่ 1 คน แต่ช่วยคนได้เป็นร้อย
การณ์กลับปรากฎว่า คนส่วนใหญ่ ไม่ยอมที่จะผลักคนอ้วนคนนี้ เพื่อช่วยคนส่วนมาก และมองว่าเป็นการฆาตกรรมหรือฝืนจริยธรรมเอามาก ๆ #อยากชวนทุกท่านคุยว่าทำไม
มีการพูดถึงเหตุการณ์อื่น ๆ ที่การรักษาชีวิตตัวเอง โดยต้องทำร้ายหรือฆ่าคนอื่นหรือการ trade off ชีวิตของคนกลุ่มน้อยต่อคนหมู่มาก เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เช่น
ในปี 1841 เหตุการณ์เรือร่มแบบ Titanic แล้วเรือชูชีพ รับได้แค่จำนวนหนึ่ง ทำให้ Alexander Holmes ต้องปฏิเสธที่จะช่วยเหลือคนอีก 14 คนขึ้นมาบนเรือ เพราะไม่งั้นคงตายกันหมด เนื่องจากเรือชูชีพรับนำ้หนักไม่ไหว ศาลก็พิพากษาให้รับโทษสถานเบา
กรณีแฝดสยามในประเทศอังกฤษ ที่หากไม่ทำการผ่าตัดแยกกัน แฝดจะตายทั้งคู่ แต่ถ้าผ่าแยกกัน หมายความว่า แฝดคนหนึ่งต้องตาย ก็จะเลือกให้แฝดที่อ่อนแอกว่าจากไป
ทั้งสองกรณีนี้ เรียกได้ว่า “less evil” หรือ “ชั่วร้ายน้อยกว่า” นั่นเอง (ตอนอ่านเจอคิดถึง series The Witcher เลยที่เดียว)
ถ้าถามเรา เรามองว่า Herr Lars Koch #ไม่มีความผิด ฐานฆาตกรรมผู้โดยสาร 164 คน เพราะ
เป็นการกระทำที่ทำไปเพื่อช่วยคนหมู่มากกว่า และเรายังคิดว่าคล้ายคลึงกับ Ozymandias ใน The Watchmen ที่เห็นว่า “ฆ่าคนล้านคน เพื่อช่วยคนพันล้าน” เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล
ขาดเจตนา ถึงแม้ผลลัพธ์คือการมีคนตายเหมือนกัน แต่เจตนาต่างกัน โทษก็ต่างกันด้วย แบบมีการวางแผนฆาตกรรม แบบทำร้ายร่างกาย แบบประมาทจนเกิดอุบัติเหตุ แบบทำเพื่อป้องกันตัว
ถ้าจะมีอะไรผิด ก็คงเป็นผิดตรงที่ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา และควรลงโทษโดยศาลทหาร อะไรทำนองนี้อ่ะ
ท่านอื่นคิดยังไง #แลกเปลี่ยนความเห็นได้นะคะ
เกร็ดที่เราชอบ คือ
การคัดเลือกคนที่จะมาเป็นนักบินเครื่องบินรบได้นั้น ยากกว่าการเป็นศัลยแพทย์หัวใจ แบบ 1 คนจากผู้สมัคร 10,000 คน คือ Herr Koch นี่เรียนจบแบบเกรด A เป็นที่หนึ่งของรัฐ เพราะว่าต้องคุมสติได้ในสถานการณ์ที่กดดันและยังสามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผลในระยะเวลาสั้น ๆ
มีการพูดถึง Carneades นักปรัชญาชาวกรีก 155 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้เรา นึกถึง “Plank of Carneades” หรือ แผ่นไม้คาร์เนียเดธ ที่เราเคยอ่านเจอใน คินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา ตอน ทะเลสาบพ่ายรัก (อายุ 18 และจำได้ตั้งแต่นั้น คือไม่รู้ประทับใจอะไร)
#เหมาะกับใคร เหมาะสำหรับคนที่อ่านหนังสือจบแล้วคนอ่านไม่ยอมจบ คือจะได้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวบทกฎหมาย ปรัชญา หรือสังคมศาสตร์
Kommentare
Kommentar veröffentlichen