ค่าครองชีพในเยอรมนี เทียบกับประเทศกรุงเทพ ฯ

 


#ประสบการณ์ส่วนบุคคล ไม่สามารถใช้ได้กับทุกบริบท หลังจากย้ายมาอยู่ที่เยอรมนีได้ 3 เดือนกว่า ๆ ก็อยากแบ่งปัน #ค่าครองชีพ ของที่นี่ เทียบกับประเทศกรุงเทพ ฯ

ก่อนอื่น ต้องกำหนดบริบทก่อนว่า „ถูกหรือแพง“ มัน relative นะคะ ยกตัวอย่าง เมือง Gießen ที่เราอยู่ ห่างจาก Frankfurt am Main โดยรถไฟ 40 นาที ราคาบ้านเช่า ที่ไม่รวมค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจิปาถะ คือ 650€ ขนาด 40 ตรม. chronicleofphaiy.blogspot.com/2022/01/blog-post_29.html

  • คนเยอรมันที่เมืองนี้ บอกว่า „โห แพงจัง แต่ก็เข้าใจได้ เพราะว่าเป็นตึกสร้าง ใหม่เอี่ยม และเราเข้าอยู่เป็นคนแรก แถมโซนนั้นก็เป็นที่อยู่อาศัยของคนรวย ลองหาคนหารห้องอยู่ด้วยกันมั้ย? จะได้ลดค่าใช้จ่ายรายเดือน“
  • คนไทยที่อาศัยอยู่ที่ München หรือ Zürich บอกว่า „โห ห้องใหญ่มาก ระเบียง สวยด้วย ที่เมืองเรา ค่าเช่าห้องแบบนี้ เริ่มต้นที่ 1,000€ อย่างต่ำ น่าอิจฉาจัง มีที่จอดรถใต้ดินให้ด้วย“
ดังนั้น เรื่อง ถูก แพง มันขึ้นกับหลาย ๆ ปัจจัยและไม่ใช่ประเด็นหลักของ post นี้ ที่อยากให้คนที่จะมาสามารถใช้ประโยชน์และวางแผนการเงินได้ อ่ะ เริ่ม



ค่าครองชีพ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด หลัก ๆ คือแบบที่ยังไงก็ต้องจ่าย กับส่วนที่ ถ้าอยากประหยัดมาก ๆ ก็สามารถบริหารจัดการได้

เรามาอยู่ที่นี่แบบไม่ต้องประหยัดมาก เพราะมีเงินเดือนประจำตามปกติ คนที่มา ด้วยทุนหรือมีงบจำกัดต้องพิจารณาเพิ่มเติมด้วยนะคะ

ส่วนที่ 1: ยังไงก็ต้องจ่าย

  1. 650€ = ค่าเช่าบ้าน ไม่มีเฟอร์ในกรณีของเรา มีชุดครัวและห้องน้ำให้ นอกนั้น ต้องซื้อเองหมด รวมค่าส่วนกลาง แบบเปลี่ยนท่อน้ำ เปลี่ยนไส้กรองน้ำ ทำความสะอาดส่วนกลาง ค่าตักหิมะ ฯลฯ
  2. 510€ x 3 = ค่ามัดจำ ที่จะคิดจากค่าเช่าบ้านแบบ Kaltmiete 3 เดือน สามารถทยอยจ่ายทีละเดือน

  3. 33€ = ค่าไฟฟ้า ที่มาจาก rooftop solar panel ตรงนี้เค้าจะคำนวณให้จากจำนวนคนที่อาศัย ว่าอยู่คนเดียวใช้ไฟเท่าไหร่ อยู่สองคนเท่าไหร่
  4. 60€ = ค่าเครื่องทำความร้อน ซึ่งบ้านเราเป็นระบบ floor heating มีประสิทธิภาพมากกว่าแบบเป็นเครื่องทำความร้อนที่ติดตั้งแยกออกมา แล้วไม่เย็นเท้าด้วย ชอบระบบนี้มากกกกก โดยเฉพาะในห้องน้ำ
  5. 20€ = ค่าน้ำประปา ซึ่งจริง ๆ สามารถใช้เป็นน้ำดื่มได้เลย แต่ถ้าไม่สะดวกใจ ก็ไปซื้อเครื่องกรองน้ำมา ไม่ต้องต้มน้ำก่อนดื่ม โดยทั้งหมดนี้ เค้าจะให้จ่ายเท่านี้ทุกเดือน แล้วสิ้นปีถึงจะมาคำนวณว่าเราใช้ ไฟ/น้ำ/heater ไปน้อยหรือมากกว่าเงินที่เราจ่ายไปต่อเดือน ซึ่งจะต่างจากไทย ที่จ่ายตามจริง เหตุผลที่เราถามและเข้าใจว่าที่เยอรมนีใช้ระบบนี้ในการเก็บค่าสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพราะไม่อยากให้เป็นภาระของประชาชน ที่ต้องจ่ายเงินค่าไฟเยอะในฤดูหนาวและจ่ายน้อยในฤดูร้อน ทั้ง ๆ ที่รายได้ของคนทั่วไปมันเท่ากันทุกเดือน ปีแรกที่เราอยู่ที่นี่ ตอนปี 2007 จำได้ว่าต้อง (1) จ่ายเงินเพิ่มอีกเป็น 100€ เพราะเราใช้ไฟเยอะเกินกว่าที่เราจ่ายไปใน แต่ละเดือน (2) ค่าไฟเลยแพงขึ้นในปีต่อไป จะได้ไม่ต้องมาจ่ายเป็นเงินก้อนแบบนี้อีก พอปีต่อมา ระวังมากขึ้น และจ่ายค่าไฟแพงขึ้นมากกว่าเดิมแล้วเลยได้เงินคืนจ้า
  6. 21€ = Wireless ราคาจะแตกต่างตามผู้ให้บริการ บ้านเราไม่มีสิทธิเลือก เพราะมีแต่ Telekom เจ้าเดียวที่มาติดตั้งได้
  7. 18€ = Rundfunkbeitrag อันนี้เป็นรายจ่ายที่เราจะเห็นคนมาถามประจำในกลุ่มนักเรียนไทยในเยอรมนีว่า
    „คือ เราไม่มีทีวี ไม่มีวิทยุ ทำไมต้องจ่ายค่า คลื่นทีวีหรือวิทยุด้วยอ่า จ่ายค่า Internet ไปแล้ว ยังไม่พอเหรอ?“
    ตอบได้ว่า #ไม่พอค่า มันเหมือนเป็นภาษีของการใช้โครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ตรงนี้ ใครมีความรู้เพิ่มเติม เสริมได้นะคะ เพราะอิชั้นนี้ สนใจแต่ใจความสำคัญว่า "ใครบ้างที่ไม่ต้องจ่ายค่า Rundfunk" แล้วพบว่า รัฐจะยกเว้นให้เฉพาะคนที่ต้อง อาศัยสวัสดิการรัฐเท่านั้น นอกนั้น ต้องจ่ายหมดค่ะ แล้วฐานข้อมูลของเยอรมนีนั้น มันผูกกับ Anmeldung ที่เคยเขียนไปใน post ก่อน ๆ ดังนั้น เค้าจะตามตัวคุณได้ และถ้าไม่ยอมจ่าย มีค่าปรับแน่นอน เคยโดนมาแล้วเช่นกัน ตอนมาเรียน MBA ช่วงปี 2007-14 hence death and taxes
  8. 10€ = ค่า 4G บวกลบ แล้วแต่ package ที่เราเลือกค่ะ chronicleofphaiy.blogspot.com/2022/02/sim-card.html
  9. 77€ = ค่าประกันสุขภาพ ตรงนี้ก็มีความแตกต่างกันไป ขึ้นกับอายุและ เงื่อนไขการมาอยู่ที่นี่ด้วยค่ะ

สรุป รายจ่ายประจำเดือน ประมาณ 889€ (35,000 บาท)




ส่วนที่ 2: ประหยัดได้ถ้าต้องการ

ตรงนี้คือค่ากินและค่าเดินทางของแต่ละคนค่ะ ถ้าหากเป็นนักเรียน โดยทั่วไป ทุกคนจะมี #ตั๋วเดือน ที่จ่ายพร้อม ๆ กับค่าเทอม แตกต่างกันไปตามกฎของแต่ละรัฐ อย่างเราจ่ายไป 300€ ต่อภาคเรียน (12,000 บาท) และสามารถใช้ #ระบบขนส่งสาธารณะ ของทั้งรัฐได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม รถเมล์ รถราง รถไฟ แค่แสดงบัตรนักเรียนให้เค้าดู จบปึ้งภายในบัตรเดียว

มาเรื่องค่ากิน จริง ๆ ถ้าจะประหยัด คือ ออกไปซื้อของ แล้วทำกินเอง แบบซื้อข้าวสาร 5 กก. ราคา 13€ กินคนเดียว 3 เดือนกว่ายังเหลือเกินครึ่งอ่ะ แล้วเนื้อ นม ไข่ ไส้กรอกที่นี่ ถูกพอ ๆ กับที่ไทย เผลอ ๆ ที่เยอรมนี ถูกกว่าด้วยซ้ำ เพราะรัฐอุดหนุนเรื่องอาหารที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของประชาชน
สำหรับเรา เราไม่ประหยัดเลยนะ เพราะ
1. ซื้อของที่เป็น organic ตลอด ถ้ามีขายใน supermarket
2. เข้าไปกินร้านอาหารที่ราคาขั้นต่ำก็ประมาณ 15€
3. สั่งอาหารมากินผ่าน Lieferando หรือ UberEat

สรุปได้ว่า รายจ่ายค่ากินประมาณ 400€ (16,000 บาท) ซึ่งถ้าเอารายจ่ายเหล่านี้ รวมกับส่วนแรก เราต้องเตรียมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เดือนละ #51000บาท เป็นอย่างต่ำ ปีหนึ่งก็ประมาณ 600,000 บาท


เมื่อแดดออกก็จะดี๊ด๊าแบบนี้ค่ะ

ความคิดเห็น

เมื่อเอาตัวเลขนี้ มาเทียบกับการที่เราใช้ชีวิตในกรุงเทพ ฯ สมัยเป็นพนักงานกินเงินเดือนแถวสาทร กินข้าวตามร้านอาหาร แถบสาทรสีลม และ สยาม วันเสาร์ อาทิตย์ ก็นัดเจอเพื่อนแถวสุขุมวิท ค่าครองชีพที่ประเทศมหาอำนาจอย่างเยอรมนี ไม่ได้แพงกว่าประเทศกรุงเทพ ฯ อย่างมีนัยสำคัญเลยนะ ดีไม่ดี ถ้าประหยัดอาจถูกกว่าด้วย แต่ต้องยอมรับว่าความหลากหลายของอาหารและความสะดวกสบาย ที่บ้านเกิดเราดีกว่าที่นี่เยอะค่ะ



Kommentare

Beliebte Posts aus diesem Blog

ส่งสัมภาระเกือบ 400 กิโลกรัมจากเยอรมันกลับไทยแบบ DIY

เหรียญสองด้านของการเป็น Au pair ในต่างแดน

ลองมาทำ Résumé เก๋ ๆ ด้วย Powerpoint ดูนะคะ