Kaltblütig/In Cold Blood - Truman Capote สัญชาตญาณดิบ การเลี้ยงดู คนที่อยู่ข้างหลัง และโทษประหาร
ซื้อหนังสือเล่มนี้มา แค่เพราะรู้จักชื่อนักเขียน Truman Capote ที่มีหนังเป็นของตัวเอง นำแสดงโดย Philip Seymour Hoffman ทั้งที่หนังเรื่องนี้ เราก็ไม่เคยดู งานเขียนที่ดังของเขาก็แค่เคยได้ยินชื่อ พอได้ยินบ่อย ๆ เข้าว่าหนังสือดี เลยสั่งมา โดยที่ไม่ได้รู้เรื่องย่อหรืออะไรทั้งสิ้น เข้าใจว่าเป็นนิยายที่เกี่ยวกับการฆาตกรรมและการสืบหาเบาะแส ในหัวก็เลยมีภาพของหนังสือลักษณะแนว Agatha Christie หรือ A. Conan Doyle หรือจะแบบแนว David Baldacci ที่เน้นความตื่นเต้น แบบ “ใครเป็นคนฆ่า?” มากกว่าที่จะเจาะลึก “ทำไมถึงฆ่า?” และความรู้สึกนึกคิดของคนที่ก่ออาชญากรรม
ดังนั้น ตอนอ่านถึงแม้เรื่องจะเปิดมาตั้งแต่ต้น โดยเล่าขนานกันไปในบทเดียวกัน แค่แบ่งแยกจากย่อหน้า (ต่างจากงานของ Murakami ที่แยกบทคู่บทคี่ แล้วเล่าขนานกันไป) ว่า เหยื่อ คือใครบ้าง? และ ฆาตกร คือใคร? ทำให้ระหว่างที่อ่าน ยังคิดเสมอว่า อาจมีหักมุม #ฆาตกร อาจจะไม่ใช่ 2 คนนี้ก็ได้ แต่กลับกลายเป็นว่า หนังสือไม่ได้มุ่งไปจุดนั้น แต่เจาะลึกลงไปถึงรากเหง้าว่าอะไรเป็นตัวผลักดันและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
เนื้อเรื่อง แบ่งออกเป็น 4 องก์ จากทั้งหมด 479 หน้า โดย 100 หน้าแรก อดทนอ่านมาก แต่พอผ่านไปได้แล้ว เนื้อเรื่องชวนให้ลุ้นต่อว่า ใครจะอะไรยังไงต่อ? อ่านไปเรื่อย ๆ จะให้ความรู้สึกเหมือนดู series อย่าง #Mindhunter เพราะ Capote เล่าเรื่องแบบเอาบทสัมภาษณ์ตัวละครที่เกี่ยวข้องเรียงร้อยให้เราเสพ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในมุมมองของแต่ละคน รายละเอียดลงวันเวลาชัดมาก จนสงสัยว่าทำไม? จนมารู้ทีหลังว่า ถึงแม้หน้าปกจะบอกว่า เป็น “novel” แต่ Capote เขียนมาจากการฆาตกรรมจริง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุค 1960 และใช้เวลา 6 ปีในการเขียนหนังสือประมาณ 500 หน้า
สิ่งที่ชอบคือการชวนให้คิดว่า ความสามารถในการควบคุมสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ ด้วยการสร้างจิตสำนึก มโนธรรม มนุษยธรรม ผ่านการเลี้ยงดู จะช่วยลดอาชญากรรมรุนแรงได้หรือไม่? ทั้งที่ตัวละครในเรื่องที่ได้รับโทษประหาร ต่างมีการอบรมเลี้ยงดูที่ต่างกัน
- มีทั้งที่แบบครอบครัวอบอุ่น พ่อแม่ พี่น้อง รักใคร่กันดี ก็ลงมือฆ่าคน
- มีทั้งแบบที่วัยเด็กที่ลำบาก ถูกทรมาน เลี้ยงดูแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ก็ลงมือฆ่าคน
- มีทั้งที่มีอาการป่วยทางจิตจริง ๆ แบบเกิดมาเป็นแบบนี้เลย คือ เห็นว่าการฆ่าคน ไม่ต่างจากการบี้มด บี้แมลง ก็ลงมือฆ่าคน
จนไปถึง หากทั้งหมดที่ว่า ลงมือฆ่าคน ผลลัพธ์คือ โทษประหาร คือสิ่งที่เหมาะสมดีแล้ว ไม่ว่ารากเหง้าของการกระทำนี้ จะมีที่มาที่ไปต่างกัน? เช่น
- คนที่ป่วยทางจิต ควรไปบำบัดมากกว่าประหารรึเปล่า?
- เด็กที่โดนทารุณกรรม แล้วโตมาก่ออาชญากรรมได้ ทำไมรัฐไม่สามารถปกป้องเยาวชนเหล่านี้ได้ แล้วดึงพวกเขาออกมาจากนรกเหล่านั้น ก่อนที่จิดใจของเด็กจะบิดเบี้ยวแบบนี้?
การพูดถึงเรื่อง #โทษประหาร ในหนังสือเล่มนี้ ถือเป็น bonus point ที่เหนือความคาดหมายของเรามาก เพราะนึกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหาว่าใครเป็นคนฆ่า ดังนั้น 100 หน้าสุดท้าย เลยสนุกกับการเสพ มุมมองของ Capote เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร เพราะ
“Killing People to Teach People not to Kill.” เราจะสอนให้คนเข้าใจว่าการฆ่าเป็นสิ่งที่ผิดด้วยการฆ่าได้ยังไง?
เราไม่ได้มองในมุมของอาชญากรรมที่นักโทษก่อมันร้ายแรงขนาดไหน เพราะยังไงคนก็มีชีวิตเดียว คุณจะฆ่าเขามากกว่า 1 ครั้งได้อย่างไร (นอกเสียจากเรามีเทคโนโลยีแบบใน Black Mirror)? แต่เรามองในมุมที่ว่า “หากคุณจับคนมาผิด เพราะการเก็บหลักฐานหรืออื่น ๆ ที่ไม่สมบูรณ์แบบ คุณจะชดเชยชีวิตที่ถูกพรากไปด้วยอะไร?”
คุณประหารนักโทษ 100 คน แค่เพียง 1 คนที่ถูกประหาร เป็นผู้บริสุทธิ์ แบบนี้ ยังถือว่าสมเหตุสมผลและ insignificance เพราะผิดพลาดไปแค่ 1% รึเปล่า?
หนัง JUST MERCY (2019) ใน Netflix ที่เพิ่งดูไปไม่นาน ก็พูดถึงเรื่องราวของการช่วยนักโทษประหาร และเล่าว่ามีคนบริสุทธิ์กี่คน ที่ถูกประหารโดยปราศจากความผิด
นอกจากนี้ เราไม่คิดว่า #ความตาย คือการลงโทษที่สูงสุด ต่อการก่ออาชญากรรมร้ายแรงด้วยซ้ำ มันออกจะง่ายและเร็วไปหน่อยสำหรับคนที่ลงมือกระทำการชั่วช้า เราค่อนไปทาง เอามาทรมาน สิ ถ้าอยากลงโทษจริง ๆ ให้เขาใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในกรงขังที่ไม่มีประตู ปล่อยให้อยู่คนเดียว ไร้การติดต่อกับมนุษย์คนอื่น มีวิธีการมากมายที่คุณจะลงโทษได้ โดยไม่ต้องฆ่า แค่ต้องหาให้เจอ ว่านักโทษแต่ละคน #หวาดกลัว อะไร?
ในหนังสือมีการต่อยอดออกไป ถึง คนที่อยู่ข้างหลัง คือครอบครัวของเหล่านักโทษประหาร ใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร และการปฏิบัติต่อพวกเขาจากคนรอบข้าง มีการบอกเล่าถึง แม่ ของเหล่านักโทษสร้างมิตรภาพขึ้นมาใหม่ เพราะลูกชายตกที่นั่งเดียวกัน ก็มีความ optimistic อยู่ในเล่มด้วย
ที่ชอบมากในการอ่านหนังสือคือการที่อ่านเจอบางช่วงบางตอน แล้วเหมือนกับหนังสือที่เราชอบ เช่น หน้า 403 พูดถึงว่า “อาชญากรรมทุกอย่างเป็นรูปแบบของการขโมย เช่น การฆ่าก็คือการขโมยชีวิต” ซึ่งเหมือนกับ Khaled Hosseini, The Kite Runner ตอนที่ Baba พูดถึง บาป
And that is theft.
Capote ยังเล่าถึงนักโทษประหาร ที่ใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือของห้องสมุดเรือนจำจนหมดทุกเล่ม แบบอ่าน 15-20 เล่มต่อสัปดาห์ เช่น งานของ Robert Frost, Whitman, Emily Dickinson, Ogden Nash โดยหน้า 436 ในวันก่อเหตุ นางยังอ่านบทสุดท้ายของ Brothers Karamazov ก่อนจะคว้าปืนออกไปยิงครอบครัว
ในหน้า 444 นักโทษนักอ่านตัวยงคนนี้ ยังพูดไว้ว่า
“จะช้าหรือเร็วพวกเราทั้งหมดจะได้ออกไปจากห้องขังนี้ ไม่ว่าจะเดินออกไปด้วยสองขา หรือมีคนแบกโลงที่ใส่เราออกไป สำหรับผม จะแบบไหนก็ได้อ่ะ”
#เหมาะกับใคร? เราว่าเล่มนี้เหมาะกับคนที่สนใจศึกษาความรู้สึกนึกคิดทั้งของฆาตกร ของตำรวจสืบสวน ของครอบครัวของฆาตกร ของครอบครัวของเหยื่อ รวมทั้งบทบาทของสื่อและกระบวนการยุติธรรม ที่มาในรูปแบบตัวอักษร แต่เล่าเรื่องแบบ series
Kommentare
Kommentar veröffentlichen