25 days of pilgrimage – Day 4 Lüneburg


Dienstag 6. September


ร่างกายคงชินกับการตื่นเช้าไปทำงานทุกวัน ดังนั้น วันนี้เราก็ตื่นมาตอน 7 โมงนิด ๆ ก่อนเวลาที่ตั้งปลุกไว้คือ 8 โมงเช้า แต่งเนื้อแต่งตัวเสร็จ ก็ลงมาเจอคุณ T ที่ห้องทานอาหาร ซึ่งกำลังทำงานอย่างขมักเขม้น

ขอเล่าประวัติของคุณ T นิดนึง
เรารู้จักเขาตั้งแต่ตอนที่เราอายุ 19 ปี และยังเรียนอยู่คณะบัญชี จุฬา ฯ แล้วเราก็ติดต่อเรื่องเรียนและการทำงานกับเขาตลอดมา จนตอนนี้ก็ถือได้ว่ารู้จักกันกว่า 10 ปีแล้ว คุณ T เป็นวิศวกรที่ทำงานด้าน sustainability มาโดยตลอด เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาก็ได้ตำแหน่ง Professor เพิ่มจาก PhD อีกด้วย

คำถามแรกของวันหลังจาก Guten Morgen คือ
“หิวมั้ย จะทานอะไรเป็นอาหารเช้าดีล่ะ?”
แล้วเล่าให้ฟังต่อว่า
“เมื่อเช้าเด็ก ๆ ถามหาว่าฝ้ายไปไหน? ทำไมไม่มาทานอาหารเช้าด้วยกัน?”
พอคุณ T บอกว่าฝ้ายยังนอนอยู่ เพราะเหนื่อยจากการเดินทาง
น้อง F ก็บอกว่า
“หนูอยากนอนต่อมั่ง” :P
แต่ก็ไม่งอแงนะ แล้วก็ออกไปโรงเรียนโดยดี

เราไม่อยากกวนเวลาทำงานของเขา เนื่องจากสัปดาห์นี้ เขาขอ work from home ก็เลยขอตัวออกมาหาอะไรกินข้างนอกเองดีกว่า

อากาศดีมาก แดดส่อง พร้อมลมเย็น ๆ เลยมองหาร้านที่สามารถนั่งอาบแดดพร้อมทานอาหารเช้าริมแม่น้ำ Illmanau ได้ หวยเลยมาออกที่ ร้าน Mama Rosa ที่มีระเบียงนั่งรับแดดยามเช้านั่นเอง



ทานเสร็จแล้วก็ถึงเวลาเดินย่อยอาหาร เนื่องจากยังมีเวลาเหลือเฟือจนกว่าจะถึงเวลานัดเพื่อนชาวบราซิลแต่เป็นลูกครึ่งอิตาเลียนตอนบ่ายสาม เราก็เลยเริ่มเดินเล่นจากในเมือง




ผ่านสวนสาธารณะ



และเข้าไปเยี่ยมมหาวิทยาลัย



ไปแอบนั่งเล่นในโรงอาหาร




ไปนั่งอาบแดดตรง Café 9 


ไปเดินดูชั้นวางเครื่องดื่ม ที่มีตราว่า Nachhaltiges Produkt หรือ sustainable product ติดอยู่ สมกับเป็นมหาวิทยาลัยที่เด่นด้าน sustainability จริง ๆ




ซึ่งทางที่เดินผ่านนั้น ก็จะผ่านบ้านที่เราเคยอยู่ที่นี่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย

บ้านหลังแรกสุด
บ้านหลังที่สอง ที่อยู่นานที่สุด คือ Campus 2

บ้านหลังสุดท้ายก่อนย้ายไป Hamburg นี่ อยู่ใจกลางเมืองเลยล่ะ

ห้องที่เราอยู่นานสุดนั้น เป็นหอนักเรียนที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วประตูใหญ่ของตึกควรจะปิดไว้ แต่วันนี้มันเปิดอยู่ เราเลยขอเดินขึ้นไปดูห้องพักเก่าซะหน่อย ว่ามีอะไรเปลี่ยนไปบ้างมั้ย?
แต่สุดท้าย ก็หยุดอยู่ที่หน้าประตู ไม่กล้ากดกริ่ง เพราะไม่แน่ใจว่ามีคนอยู่รึเปล่า? แล้วจะบอกว่ามาทำอะไรดี?

ใกล้บ่ายสาม ก็ออกเดินเท้า - สรุปได้ว่า วันนี้เดินเท้าไปร่วม ๆ 4 กิโลเมตรแล้ว ^o^ - ไปหาเบนยามินที่บ้าน ที่เขาพักกับแฟนชาวเยอรมัน ที่คบกันมาเข้าปีที่ 7 แล้ว ทั้งคู่มีช่วงที่เป็นรักทางไกลระหว่างบราซิลกับเยอรมนีอยู่ระยะหนึ่งด้วย เราก็เลยถามเคล็ดลับว่า

“ทำไมถึงอยู่กันได้นาน? และอะไรที่ทำให้ยังรักกันได้ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เจอกันบ่อย ๆ ในช่วง 2-3 ปีแรก”

“คงเป็นการหาจุดสมดุล หรือประนีประนอมระหว่างกันนั่นล่ะ” เบนยามินตอบกลับมา หลังจากคิดอยู่ระยะหนึ่ง พร้อมมีการหาใบไม้แถวนั้น มาทำเป็นกราฟเส้นจำนวนสองเส้น

“เนี่ยะ เห็นมั้ย ช่วงแรก ๆ กราฟมันก็ห่างกันระดับนี้ พอปรับเข้าหากัน ระยะห่างมันก็แคบลง แล้วก็ต้องค่อย ๆ ปรับไปเรื่อย ๆ น่ะล่ะ”

แฟนของเบนยามินเป็นคุณครูสอนอยู่ที่โรงเรียนใกล้ ๆ เธอรีบออกจากโรงเรียนเร็วเป็นกรณีพิเศษ เพื่อมาเจอเราตอน 4 โมงเย็น ก็เลยได้คุยกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง “ผู้ลี้ภัย” ที่เรียกว่า Flüchtlinge หรือ refugees ในภาษาอังกฤษ ที่เราสนใจอยากได้ความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ที่เป็นเจ้าของประเทศ เธอเล่าให้ฟังว่า ที่โรงเรียนก็รับเด็กที่ลี้ภัยเข้ามาเรียนเป็นจำนวนหนึ่ง ซึ่งเด็กเหล่านี้จะถูกส่งไปเรียนภาษาเยอรมันเพื่อที่จะสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมเยอรมันได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมาก และเด็กเล็กจะมีปัญหาน้อยกว่าเด็กวัยรุ่น

ตอนนี้ที่โรงเรียนกำลังปวดหัวกับเด็กคนหนึ่ง อายุประมาณ 15 ปี ที่บอกว่า “ประมาณ” เพราะทางโรงเรียนก็ไม่แน่ใจว่าน้องเค้าอายุเท่าไหร่กันแน่ เด็กส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารอะไรติดตัวมาเลย ทำให้ต้องประมาณเอาจากหลักฐานแวดล้อม โรงเรียนเชื่อว่าน้องมีอาการ psychological trauma ที่เกิดจากภาวะสงคราม และควรจะต้องส่งเข้าบำบัดทางจิต ซึ่งกว่าที่จะส่งไปบำบัดรักษาได้นั้น ต้องมีหลักฐานเพียงพอว่าน้องป่วยทางจิตจริง ๆ ไม่ใช่แค่เกเรตามประสาเด็กวัยรุ่นที่ฮอร์โมนพลุ่งพล่าน เธอเสริมว่าสิ่งที่น้องคนนี้ทำมา 2 ครั้ง
ครั้งแรก น้องเอาอุจจาระมาป้ายไปทั่วห้องน้ำในโรงเรียน
ครั้งที่สอง น้องช่วยตัวเอง แล้วเอาน้ำอสุจิมาป้ายหน้าเพื่อน -_- 
บ่งชี้ว่าน้องต้องการการดูแลเอาใจใส่ที่มากกว่าปกติ แต่จะเป็นผู้ป่วยจิตเวชหรือไม่นั้น ต้องรอผู้เชี่ยวชาญมาทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดอีกที

เรื่องที่คุยกันถัดมาคือเรื่องการสวม “ฮิญาบ”
ก่อนอื่น ผ้าคลุมหน้าหรือคลุมผมของหญิงสาวชาวมุสลิม พอแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้
hijab คือ ผ้าคลุมศีรษะจนมาถึงช่วงไหล่
niqab คือ ผ้าคลุมหน้าที่จะเปิดให้เห็นเพียงช่วงดวงตาเท่านั้น ส่วนใหญ่จะใส่กับชุดคลุมที่เป็นสีดำ
burka คือ ลักษณะจะเหมือนชุดคลุมตั้งแต่ศีรษะลงมา แม้แต่ช่วงตาก็ยังมีตาข่ายมาบังไว้ จะเห็นสตรีใส่ burka ในประเทศอัฟกานิสถาน


ที่มา: http://cloudmind.info/hijab-niqab-and-burka-faq/

เธอเล่าว่าโดยทั่วไป หากเป็นสถานการณ์ปกติ ก็ไม่มีใครมีปัญหาจากการสวมผ้าคลุมผม แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน เริ่มมีการพูดคุยกันว่า การสวม niqab เป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เธอเป็นคุณครู แล้วไม่สามารถเห็นภาษากายที่แสดงออกทางสีหน้าของนักเรียนได้นั้น ยากต่อการทำความเข้าใจนักเรียน ที่มองเห็นได้เพียงแต่ดวงตา ซึ่งก็รวมไปถึงการออกเสียงระหว่างคาบเรียนอีกด้วย นอกจากนี้ การสวม niqab หรือ burka นั้น ไม่ต่างอะไรกับการใส่หมวกกันน๊อค ซึ่งไม่สามารถเดินเข้าธนาคารหรือสถานที่ราชการบางแห่งได้ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ที่บังคับให้ทุกคนต้องถอดหมวกหรือแว่นดำออก เพื่อแสดงให้เห็นใบหน้าอย่างชัดเจน

เราก็เห็นด้วยว่าในบางสถานที่นั้น ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ แต่การจะบังคับหรือห้ามไม่ให้ใครใส่ผ้าคลุมผม หรือแต่งกายตามประเพณีนิยม มันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งไม่ควรทำได้ หรือ หากจะทำ ก็ต้องมีการหาจุดประนีประนอมที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของศาสนา วัฒนธรรม และสังคมที่หล่อหลอมพวกเขามาด้วย เช่น ที่โรงเรียนมีพี่น้อง 4 คนที่ลี้ภัยมาและถูกส่งมาให้เข้าโรงเรียน เด็กผู้ชาย 2 และเด็กผู้หญิง 2 ตามกฎหมายของเยอรมัน เด็กทุกคนต้องไปโรงเรียน ซึ่งเด็กผู้ชายไม่เข้าใจและรับไม่ได้ ว่าทำไมเด็กผู้หญิงต้องไปโรงเรียน? พวกเขาไม่อยากให้เด็กผู้ชายคนอื่น ๆ มามองน้องสาวของตน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ มันยากมากที่จะอธิบายให้เด็ก ๆ เข้าใจโดยปราศจากพ่อแม่ของพวกเขา

คุณครูเธอบอกเลยว่า บางครั้งเครียดมาก เพราะเป็นปัญหาที่เธอไม่เคยเจอมาก่อน



หลังจากถกเถียงกันเรื่องหนัก ๆ ก็ถึงเวลาออกเดินเท้า (อีกแล้ว) เนื่องจากอากาศดีมาก คุณครูอยากไปว่ายน้ำเล่นที่ทะเลสาบในเมือง เรากับเบนยามินก็ไปนั่งเล่นและคุยกันต่อริมทะเลสาบ

ที่มา: http://www.mathias-brodt.de/de/weblog/2009/05/16/aussicht-lueneburg-kreideberg/


ก่อนที่เราจะบอกลาทั้งสองคน เพื่อกลับมาใช้ช่วงเวลายามเย็นกับเด็ก ๆ แล้วก็ส่งน้อง ๆ เข้านอนเป็นลำดับสุดท้าย


เนื่องจากวันพรุ่งนี้ เราจะย้ายไปค้างบ้านนาธาน เพื่อนร่วมหอคนเก่า ก็เลยนัดเจอกันตอนเย็นหลังจากที่เขากลับมาจากทำงานที่ Hamburg เพื่อเอากุญแจเข้าบ้าน เป็นครั้งแรกที่ได้เจอกันหลังจากครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2014 ไปดื่มและคุยอะไรกันนิดหน่อยก่อนที่เราจะกลับมานอนตอนสี่ทุ่มครึ่ง เพื่อเตรียมตัวส่งน้อง ๆ ไปโรงเรียนในเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น 

ลากันไปด้วยเพลงนี้นะคะ พอดีฝ้ายได้ยินร้านของเพื่อนเปิดเพลงนี้ แบบเป็น remix ก็เลยคิดถึงต้นฉบับที่เราเคยได้ยินมาค่ะ :)








Kommentare

Beliebte Posts aus diesem Blog

ส่งสัมภาระเกือบ 400 กิโลกรัมจากเยอรมันกลับไทยแบบ DIY

เหรียญสองด้านของการเป็น Au pair ในต่างแดน

ลองมาทำ Résumé เก๋ ๆ ด้วย Powerpoint ดูนะคะ