Anxious people ฝนตกขี้หมูไหล ฉบับสวีดิช
เริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2022 ซึ่งเนื้อเรื่องในหนังสือก็เป็นการเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เช่นกัน นักเขียนชาวสวีดิชท่านนี้ ค่อนข้างเป็นที่นิยมมาก ๆ ในเยอรมนี เห็นหนังสือของเขามานานล่ะ เคยเจอหนุ่มเยอรมันนั่งอ่านหนังสือเรื่องคุณลุง Ove ในรถไฟ ตอนที่เราก็หยิบ Think Again ไปอ่าน นอกจากนี้ งานของ Fredrik Backman เป็นงานของนักเขียนชาวสวีดิชคนที่สองที่เราเคยอ่าน โดยท่านแรกก็คือ Stieg Larsson ผู้ล่วงลับ ที่เขียนเรื่อง The Girl with the Dragon Tattoo นั่นเอง แต่ mood and tone ของทั้งสองท่าน ต่างกันเยอะอยู่ เหมือนกันอยู่อย่างเดียวคือความหม่นของอากาศในแถบสแกนดิเนเวียนั่นเอง
หนังสือเรื่อง Anxious People หรือ Eine ganz dumme Idee เป็นหนังสือที่แหวกขนบหนังสือชุบชูใจ และเสียดสีประเด็นทางการเมืองได้อย่างแยบยลเลย ปกติหนังสือแนว healing ไม่ใช่ตัวเลือกที่เราจะอ่านเท่าไหร่ และจะประทับใจยาก ยกตัวอย่าง Midnight Library ที่เพิ่งอ่านจบไป ก็ไม่รู้สึกว่ามีการประทับร่องรอยอะไรไว้มากมายหลังจากอ่านจบ แต่เล่มนี้ทำได้ดีกว่าเยอะมาก เพ้อฝันและโลกสวยน้อยกว่า และดูมีวัยวุฒิมากกว่า
จะรีวิวเรื่องนี้ โดยไม่เปิดเผยเนื้อหาและความสนุกค่อนข้างยาก คิดว่าต้องอ่านเอง แต่ส่วนหนึ่งที่คิดว่าจะช่วยปูพื้นความเข้าใจของคนไทย ที่อาจจะไม่คุ้นกับวัฒนธรรมของคนแถวนี้ (แบบตอนที่เราย้ายมาที่เยอรมนีใหม่ ๆ ในปี 2007) คือ การจะเช่าบ้าน ตลาดอสังหา ฯ ที่นี่ มีระเบียบปฏิบัติที่ต่างจากที่ไทยมาก ทั้งการดูบ้าน ที่จะนัดทุกคนที่สนใจจะเช่าหรือซื้อมาดูห้องพร้อมกัน โดยที่คนที่อยากจะเช่า จะต้องนำเอกสารทั้งทางการเงิน การทำงาน ฯ ล ฯ ติดตัวมาให้เจ้าของบ้านหรือนายหน้าเก็บกลับไปพิจารณา ว่าคนไหนมีคุณสมบัติเหมาะที่สุด ค่าเช่าจะต่อรองไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการซื้อ ก็จะมีการต่อรองกัน แบบในนิยายเรื่องนี้
ส่วนที่ประหลาดใจ หลังจากเริ่มอ่านไปได้ 10 บทแรก คือความจิกกัด เสียดสี แดกดัน ในเกือบทุกบท แบบที่ว่าอ่านงานของนักเขียนอังกฤษ ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเสียดสีแล้ว เทียบกับงานของ Fredrik ไม่ติดเลย จุดนี้ ขัดแย้งมาก ๆ จากประสบการณ์ส่วนตัว เคยมีเพื่อนเรียนภาษาเยอรมันที่มาจาก Stockholm สวีเดน ก็ไม่เห็นนางจะจิกกัดอะไร ออกจะเป็นมิตร ถึงแม้จะพูดน้อยกว่าพวกอิตาเลียนและสเปนก็ตามที และเคยต้องไป Stockholm อยู่สามปีติดต่อกัน ไปครั้งละสองสัปดาห์ รู้สึกว่าคนเมืองนี้ ก็เป็นมิตร ช่วยเหลือดี แถมพูดภาษาอังกฤษชัดมากกก เลยงง ๆ ที่เนื้อหาจิกกัดชาวเมืองหลวงที่อยู่บนน้ำอย่างต่อเนื่อง
นอกเหนือจากความจิกกัด เรื่องราวยังให้ความรู้สึกเหมือนนิยายสืบสวนในเกาะร้างหรือห้องปิดตายเทือก ๆ นี้ ที่เวลาอ่านต้องกวาดสายตาอ่านแบบทีละบรรทัด ห้ามขี้โกง อ่านข้ามไปบรรทัดสุดท้ายของหน้าก่อน ไม่งั้นอดสนุกแย่เลย การค่อย ๆ คลายปม ให้เบาะแสในแต่ละบท ทำได้ดี กว่าหนังสือสืบสวนบางเล่มด้วยซ้ำ
-
ฉากของเรื่องนี้เกิดขึ้นในห้องชุดที่อยู่ชั้นบนสุดของตึก ในเมืองขนาดเล็ก ที่อยู่ห่างจาก Stockholm ตัวละครแต่ละตัวมาเจอกันโดยไม่ได้นัดหมาย และแต่ละตัวก็มี side story ของตนเอง ที่อาจจะหรืออาจจะไม่เชื่อมต่อกับตัวละครอื่น ๆ มีการเล่าย้อนไปมา ระหว่าง 10 ปีก่อนหน้ากับปัจจุบัน แต่ละบทจะเล่าจากมุมมองของแต่ละคนว่าในช่วงเวลาเดียวกัน ใครทำอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง ผ่านการสอบปากคำจากสองตำรวจพ่อลูก ที่ปวดหัวกับเหตุการณ์งง ๆ ที่เกิดขึ้น
ช่วงต้น ๆ ของหนังสือ 75 บท ทั้งหมด 455 หน้า ตามฉบับแปลภาษาเยอรมัน (เป็นหนึ่งในหนังสือที่เราอ่านจบเร็ว แบบ 4 วัน วันละประมาณ 100 หน้า คืออ่านหนังสือข้ามปีเลยอ่ะ) ช่วง 25 บทแรก อ่านแล้วสงสารตำรวจมากกก แบบทำไมแต่ละคนถึงพูดไม่รู้เรื่องได้ขนาดนี้นะ! คือถ้าเป็นเรานั่งสอบปากคำแทนล่ะก็ คงได้มีหยุมหัวพยานหลายคน และคนละหลายรอบมากกกก มีคนเดียวที่เรารู้สึกเป็นผู้เป็นคน และเห็นด้วยกับการกระทำและตัดสินใจเป็นส่วนใหญ่ คือ Zara (อ้อ แต่ตัวตำรวจทั้งสองคนเอง ก็น่าจะโดนหยุมหัวเหมือนกันนะ)
เราเข้าใจว่าคนจัดประเภทหนังสือเล่มนี้ เป็นแนวชุบชูใจ ถึงแม้จะมีการแดกดันเสียดสีเยอะ ก็คงเป็นเพราะผู้เขียนมีการสอดแทรกปรัชญาการใช้ชีวิตอยู่อย่างมากมายในเล่มนี้ ตั้งแต่หน้าแรกเลย ที่พูดถึงหน้าที่ของคนในแต่ละวัน เช่น เรื่องการเสียภาษี การใส่ชั้นในที่สะอาด และการจำรหัส WLAN ของตนเองให้ได้ หรือการบอกว่า มันเป็นเรื่องที่โคตรยากเลย ในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่โดยไม่ล้มเหลว
มีการเกลี่ยบทให้ตัวละครแต่ละตัวมีเส้นเรื่องของตัวเอง ถึงแม้เรื่องจะเริ่มด้วยโจรปล้นธนาคาร ที่ผันตัวไปเป็นโจรเรียกค่าไถ่ แต่คนอื่น ๆ ในเรื่องต่างออกมาสร้างสีสรร เรียนรู้ แก้ปมในใจ ระหว่างเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่ติดอยู่ในพื้นที่จำกัดด้วยกัน ที่คิดว่าผู้เขียนต้องการแตะประเด็นเหล่านี้ ผ่านตัวละครที่ diversity มาก
- ทั้งเรื่องเพศ ที่แน่นอนต้องมี LGBTQIA+
- ทั้งเรื่องอายุที่มีตั้งแต่ 20 ไปจนถึง 90 ปี
- ทั้งเรื่องสถานภาพโสด แต่งงาน ตั้งครรภ์ หย่า ม่าย
- ทั้งเรื่องอาชีพที่หลากหลาย
- ทั้งเรื่องสถานะทางการเงิน
ทำให้ทั้งเรื่องเรียกได้ว่าไม่มีตัวเอก แต่ก็ไม่มีตัวประกอบเช่นกัน เหมือนใน series เรื่อง White Lotus ที่เราเปิดทิ้งไว้ระหว่างอ่าน 100 หน้าสุดท้ายโดยบังเอิญ แต่ละคนมีมิติ มีเรื่องราว มีปม ที่เราเชื่อว่าจะสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้อ่านได้อย่างหลากหลาย
- เป้าหมายในการทำงาน
- การเลี้ยงดูลูก ความสัมพันธ์ในครอบครัว ช้างเท้าหน้า ช้างเท้าหลัง
- ปัญหายาเสพติด
- ความแตกต่างระหว่าง generation
- ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และโลกร้อน (จิกกัด vegan ได้อย่างเจ็บแสบมาก)
- LGBTQIA+ และ WOKE (ตื่นรู้เรื่องปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำ ฯ ล ฯ)
- ทุนนิยม เน้นบทบาทของสถาบันการเงินแบบสุด
- อัตราการก่ออาชญากรรม ระหว่างเพศหญิงและชาย
- การจุดพลุสิ้นปีกับน้องหมา (ที่เข้ากันดี๊ดีกับประเทศไทยสุด ๆ)
- การลี้ภัย การอพยพของคนต่างชาติ เข้ามาอยู่ในประเทศโลกที่ 1
- platonic love โดยมีหนังสือเป็นสื่อกลาง
แอบคิดเอาเอง ว่าตอนวาง plot เรื่องนี้ ที่เป็นเรื่องการจับตัวประกันหรือลักพาตัว มันเชื่อมโยงกับโรคทางจิตอย่าง Stockholm syndrome รึเปล่านะ? เพราะดูมีการจิกกัดชาวเมือง Stockholm ถี่มากก
ชอบหลายประโยคมากในหนังสือเล่มนี้ (แปลเป็นไทยเอง ถ้าอ่านแล้วจะงง ๆ ก็ขออภัยค่า 🙏)
".. Glück wie Geld ist. Ein erfundener Wert für etwas, das wir weder wiegen noch messen können.
ความสุขก็เหมือนเงิน แต่ไม่ได้เท่ากับเงิน คนเราต่างให้ค่าทั้งสองอย่างเอง ทั้ง ๆ ที่เราไม่สามารถวัดหรือตวงมูลค่าได้ด้วยซ้ำ"
บางประโยคก็สะท้อนค่านิยมของสังคมและจิกกัดไปพร้อม ๆ กัน
"Bargeld? Mein Lieber, sehe ich etwa aus wie ein Drogendealer?
เงินสดเหรอ? ที่รัก ฉันดูเหมือนคนค้ายาหรือยังไงนะ?" สะท้อนสังคมไร้เงินสด เพราะที่สวีเดน ผู้คนแทบจะไม่พกเงินสดแล้ว คิดว่าพอ ๆ กันกับประเทศอังกฤษ
"Sie haben was getrunken. Ihre Frauen müssen sie herfahren.
พวกเขาดื่มแอลกอฮอล์น่ะ เลยต้องรอให้ภรรยาพวกเขาขับรถมาให้" สะท้อนดื่มไม่ขับ ไม่ใช่เมาไม่ขับนะ ขั้นกว่าไปอีก
บางประโยคก็หวานมากกกกก
"Man verliebt sich ja nicht in ein bestimmetes Geschlecht, Anna-Lena. Man verliebt sich wohl eher in einen Idioten.
เราไม่ได้หลงรักใครที่เพศสภาพหรอกนะ เราหลงรักคนงี่เง่าต่างหากล่ะ"
ชอบบทสนทนาเถียงกันเรื่อง Hawaiian Pizza มาก ๆ แต่อ่านแล้วอยากจะหยุมหัวหลาย ๆ รอบกับความเยอะสิ่ง
บางประโยคก็โลกมืดไปหน่อย
"Das neue Jahr beginnt, was letztlich nicht immer so viel zu bedeuten hat, wie macher sich das erhofft, außer man ist Kalendarverkäufer.
การเริ่มต้นปีใหม่น่ะ ก็ไม่เห็นจะมีความหมายอะไรมากมายอย่างที่บางคนคาดหวังหรอกนะ นอกเสียจากคุณเป็นคนขายปฏิทินปีใหม่เท่าน้ันล่ะ"
ตบท้ายด้วยการถกเรื่องโลกร้อน
"..., dass Veganer immer davon faseln, den Planten retten zu wollen, als wäre der Planet unbedingt auf sie angewiesen? Der Planet wird auch ohne den Menshen noch Milliarden Jahre weiterexistieren. Eigentlich bringen wir uns doch nur selber um.
พวก vegan ที่อยากจะช่วยโลกน่ะ พูดราวกับว่าโลกใบนี้ต้องพึ่งพาพวกเรางั้นสิ? ดาวเคราะห์ดวงนี้น่ะจะมีอายุยืนยาวไปอีกนับล้าน ๆ ปี โดยปราศจากมนุษย์ แท้จริงแล้วพวกเรานี่แหละกำลังล้างบางเผ่าพันธ์ุตัวเองอยู่"
และทั้งหมดที่ทำ ก็คือช่วยเผ่าพันธุ์ตนเองให้ยัง "คงอยู่" กับดาวเคราะห์ดวงนี้ต่างหาก (อันนี้เติมเอง)
-
คำคมเด็ด ที่ยืมมาจาก Martin Luther
"Wenn ich wüsste, dass morgen die Welt unterginge, würde ich heute noch ein Apfelbäumchen pflanzen.
ถ้าหากฉันรู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นวันสิ้นโลก วันนี้ฉันก็จะยังปลูกต้นแอปเปิ้ลอยู่ดี"
และ
"Schiffe im Hafen sind sicher, mein Junge, aber dafür sind Schiffe nicht gebaut.
เรือที่จอดเทียบท่าน่ะปลอดจากภยันตรายใด ๆ แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ที่เราสร้างเรือขึ้นมานะพ่อหนุ่ม"
#หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับ เหมาะกับคนที่ชอบอ่านเนื้อเรื่องที่มีตัวละครเยอะ ๆ มีปมในชีวิต ชอบบทสนทนาที่จิกกัดแต่ลึกซึ้ง และมองหาการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ทำเรื่องโง่ ๆ มากมายระหว่างทาง แต่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้น มากกว่านั่งอุดอู้อยู่ใน comfort zone จนไม่กล้าออกไปทำอะไร แต่เรื่องที่น่ากังวล ก็คือกลุ่มที่เป็นโรคซึมเศร้า อาจจะต้องระวังหากจะอ่านเล่มนี้ เพราะมีการฆ่าตัวตายอยู่ในเรื่องด้วย
Kommentare
Kommentar veröffentlichen