หนังสืองงงงของนักเขียนญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมนี
#รีวิวหนังสือ Sendbo-o-te (เยอรมัน) #ผู้อัญเชิญไฟ (ไทย) หรือ Emissary (อังกฤษ) - Yoko Tawada
เล่มนี้ลองอ่านเพราะได้รับการแนะนำมาและประวัติผู้เขียนก็น่าสนใจ คือ เป็นคนญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตอยู่ที่เยอรมนี และเขียนหนังสือทั้งภาษาญี่ปุ่นและเยอรมันออกมามากมาย ฝ้ายจะรีวิวบางตอนที่น่าสนใจนะคะ
-
หนังสือมี #ความประหลาด และผสมปนเปมากมาย ตั้งแต่ #ระดับปัจเจกบุคคล คือความสัมพันธ์ของครอบครัวที่เด็กน้อยเติบโตมากับญาติผู้ใหญ่ โดยปราศจากพ่อแม่ ซึ่งกลายเป็น “บรรทัดฐาน” ของสังคมในเรื่องราวนี้ ดังนั้น การที่เด็ก ๆ ไปโรงเรียน แล้วก็พบว่าเด็กคนอื่น ๆ ก็ถูกเลี้ยงดูโดยคุณทวดมากกว่าพ่อแม่ ทำให้การล้อเลียนว่า “ลูกกำพร้า” “ลูกไม่มีพ่อมีแม่” หรือ “พ่อแม่ไม่รัก” ไม่มีผลอย่างใดเลย อีกทั้งการสอนคำว่า “พ่อแม่” ไม่มีความจำเป็นในบริบทนี้
-
#ระดับสังคม มีการพูดถึงความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม ซึ่งที่น่าสนใจมาก คือมีการพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และความมักง่ายของสังคมมนุษย์แทรกอยู่เป็นระยะ ๆ ในเนื้อเรื่อง ที่ฝ้ายอ่าน ๆ ไป ก็รู้สึกแบบ “โห นี่หนังสือเล่มนี้ พูดเรื่องความยั่งยืนเรอะ?”
การทิ้งขยะลงทะเล โดยยกตัวอย่างจุดจบของเครื่องซักผ้า การใช้สารพิษ การปล่อยน้ำเสียลงสู่ท้องทะเล การตายหมู่ของเหล่านกเพนกวิน
-
และสุดท้ายที่อยากพูดถึงคือ #กลิ่นไอ ของเนื้อเรื่อง ที่ทำให้ไพล่ไปนึกถึงงานเขียนของนักเขียนที่ฝ้ายชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็น #เฮียมูราคามิ ที่มีการพูดถึงเรื่องราวเหนือจริงในปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องปกติของท้องเรื่อง การพูดถึงการ “กลาย” หรือ “วิวัฒนาการ” ที่ทำให้นึกถึงงานที่โด่งดังของ Franz #Kafka ก็มีทอดแทรกอยู่ระหว่างบรรทัดของหนังสือเล่มนี้ ยังมีการพูดถึงสิทธิของพลเมือง ที่ทำให้นึกถึง 1984 ของ #Orwell ผสมกับพูดถึงสิทธิของผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือแม้แต่การ “เปลี่ยนเพศ” ที่ไม่ต้องมีการผ่าตัดแต่อย่างใด
-
#สรุป ถ้าคุณชอบอ่านหนังสือที่คาดเดาทิศทางไม่ได้ หนังสือนี้จะเหมาะกับคุณมาก หรือเป็นพวกอยากอ่านหนังสือที่มีการแตะเรื่องความยั่งยืนโดยที่ไม่เป็นวิชาการมากเกินไป เล่มนี้ก็พอได้นะคะ
Kommentare
Kommentar veröffentlichen