การเมืองฟิลิปปินส์ x การเมืองไทย




จากที่เคยตั้งปณิธานว่าจะอ่านหนังสือของนักเขียนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านเรามากขึ้น เล่มนี้ จึงเป็นเล่มสุดท้ายของปี 2022 เขียนโดย Maria Ressa นักข่าวชาวฟิลิปปินส์ ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2021 ซึ่งเป็นรางวัลแรกของประเทศฟิลิปปินส์



เนื้อเรื่องในหนังสือ "How To Stand Up to a Dictator" Der Kampf um unsere Zukunft มีความสดใหม่ เพราะเพิ่งตีพิมพ์ในปี 2022 ที่มีการครอบคลุมเนื้อหาหลายอย่างที่ผู้อ่านกำลังประสบอยู่ หรือยังไม่ลืมว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่แน่ใจว่ามีการแปลเป็นภาษาไทยหรือยัง เราซื้อเป็นฉบับภาษาเยอรมัน 

หนังสือ 327 หน้า อัดแน่นด้วยเชิงอรรถและแหล่งอ้างอิง ให้ความรู้สึกเหมือนอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยหนังสือแบ่งออกเป็น 3 องก์ เรียงตามลำดับเวลา

  • 1963-2004 อำนาจ สื่อสารมวลชน และ ประเทศฟิลิปปินส์
  • 2005-2017 การมาถึงของ Facebook สำนักข่าว Rappler และหลุมดำของ Internet
  • 2018-ปัจจุบัน การจับกุม ทางเลือก และการต่อสู้เพื่ออนาคต

ออกตัวก่อนว่าความรู้ทางการเมืองของประเทศฟิลิปปินส์มีอยู่เพียงน้อยนิด แต่พออ่าน ๆ ไปในองก์แรก ก็แอบอึ้งว่ารัฐบาลของชาวฟิลิปปินส์ดูโหดร้ายมากกกกก แบบถ้าเอาจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นตัวชี้วัด เยอะกว่าของพี่ไทยมากจริง ๆ แต่ไม่ว่ายังไง การมีคนเสียชีวิตจากการดำเนินการหรือสั่งการของภาครัฐเป็นสิ่งที่เลวร้ายมากก

ผู้เขียน Maria ถือว่าเป็นชาวฟิลิปปินส์แต่กำเนิด แต่อพยพไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แล้วกลับมาบ้านเกิดตอนช่วงที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัย หนังสือเป็นการเล่าเรื่องความเป็นมาทางการเมือง การทำงานของสื่อ และเรื่องส่วนตัวของผู้เขียนที่เล่าถึงการทำความรู้จักตัวตน การปรับตัวกับสังคมการทำงานสำหรับ LGBTQIA+ (ที่ตัวเธอเองเพิ่งรู้ว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยนตอนอายุ 30 ปี) ในสมัยนั้น และเพื่อนพ้องที่คอยเป็นกำลังใจระหว่างการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ

-

การเมืองกับการรัฐประหาร ถูกจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้เช่นกัน หากใครเป็นคอการเมือง คงคุ้นเคยกับหลาย ๆ ชื่อที่ปรากฎอยู่ในบทแรก ๆ เช่น ประธานาธิบดี Marcos (เป็นคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งนี้ 2 สมัยติดต่อกัน) การลอบสังหารประธานาธิบดี Ninoy ในปี 1983 และการรัฐประหารรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีหญิง Cory Aquino ในปี 1989 ที่ยาวนานถึงเก้าวัน และเป็นการนองเลือดที่สุดครั้งหนึ่ง มีผู้เสียชีวิต 99 คน โดย 50 คนเป็นพลเรือน และบาดเจ็บกว่า 570 คน จนมาเริ่มมีเสถียรภาพในสมัยของประธานาธิบดี Fidel Ramos ในปี 1992 ซึ่งเป็นช่วงที่เจริญที่สุดของฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ หนังสือยังมีการกล่าวถึงการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ในช่วงที่ Anwar Ibrahim ถูกกล่าวหาว่าเป็นรักร่วมเพศในสมัยของ Mahathir Mohamad โดยผู้เขียนเป็นหนึ่งในนักข่าว CNN ที่ได้เข้าไปทำการสัมภาษณ์กับ Mahathir โดยตรง (ซึ่งตัวเธอเองก็กำลังคบกับแฟนสาวอยู่) และกล้ายกมือถามคำถามตรง ๆ กับ Mahathir ว่า 

"ท่านประธานาธิบดีคะ จากกรณีนี้ ท่านต้องการจะสื่อว่าคนมาเลย์ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นคนรักร่วมเพศหรือคะ?" 

ส่วน Mahathir ตอบยังไง ให้ไปหาอ่านกันต่อเองนะคะ :)

-

เรื่องที่เราประหลาดใจมากคือ ขบวนการก่อการร้ายระดับโลก อย่าง al-Qaida ที่ก่อวินาศกรรมในวันที่ 9 กันยายน 2001 มีที่กบดาน เคลื่อนไหว และเตรียมการวางแผนที่ประเทศฟิลิปปินส์!!! โดยกลุ่มก่อการร้ายนี้ เคลื่อนไหวอยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างยาวนาน อย่าง Mohammed Jamal Khalifa ที่เป็นญาติใกล้ชิดของ Osama bin Laden ก็มาอยู่ที่ฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 1988 เพื่อก่อตั้งองค์กรอิสลามหัวรุนแรง โดยตัวเลขการก่อการร้ายในประเทศระหว่างปี 1991-1994 เพิ่มขึ้นกว่า 150%

เธอยังเล่าถึงเอกสารที่ได้รับมาในปี 1995 ที่พูดถึงการวางแผนสังหารพระสันตะปาปา Johannes Paul II และประธานาธิบดี Bill Clinton รวมทั้งแผนการก่อวินาศภัยในสหรัฐผ่านเครื่องบินที่บินออกจากฟิลิปปินส์ (ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในประเทศอาณานิคมของสหรัฐ) โดยในเอกสารชุดนี้ มีการพูดถึงอีกแผนการหนึ่ง ที่ทุกคนต่างไม่ใส่ใจ เพราะมันดูเพ้อฝันมากเกินไปในขณะนั้น คือแผนการจี้เครื่องบินพาณิชย์ เพื่อไปชนตึกต่าง ๆ ได้แก่ (1) World Trade Center แห่ง NYC (2) Pentagon (3) Sears Building ในเมือง Chicago (4) TransAmerica ที่เมือง San Francisco

Maria ยังบอกอีกว่า ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีฐานข้อมูลหรือโปรแกรมอย่างเป็นทางการ ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกัน นอกเหนือไปจากคุยกันคนละภาษาแล้ว โดยประเด็นนี้ เราก็ได้ไปคุยกับพ่อเรื่องการร่วมมือกันระหว่างวงการข่าวกรอง (คุณพ่อเคยทำงานในหน่วยงานข่าวกรอง แต่ออกมานานล่ะ) พ่อก็บอกว่า ก็จริงตามนั้น แล้วแต่ละประเทศก็ไม่ได้จริงใจแลกข่าวกันอย่างเปิดเผย มีกั๊ก ๆ ไว้บ้าง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศตนเอง สิงคโปร์นี่ตัวดี คอยจะแทงข้างหลังไทยตลอด แต่วันนี้ ไม่ต้องกังวลล่ะ เพราะคนไทยแทงกันเอง ขัดขากันเองเรียบร้อย ไม่ต้องมีคนนอกมายุ่ง

-

องก์ที่สอง เป็นการพูดถึงบทบาทของ Facebook อย่างละเอียด แบบละเอียดมาก ๆๆ แนะนำให้อ่านแล้วลองพิจารณาดูนะคะ คือผู้เขียนไม่ได้เขียนเรื่องนี้อย่างคนนอกวง แต่ได้มีโอกาสไปกระทบไหล่ Mark Zuckerberg แบบตัวต่อตัว มีการสื่อสารให้ทราบถึงปัญหา โดยย้ำว่าชาวฟิลิปปินส์ใช้เวลากับ social media มากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น อะไรก็ตามที่อยู่และกระจายโดย Facebook มีผลอย่างมากต่อความคิดของประชาชน จนถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยเลยทีเดียว

พออ่านจบ เราก็กลับมาตั้งคำถามว่า เราควรเลิกเล่น Facebook หรือไม่? เพื่อเป็นการต่อต้านนโยบายของ FB หรือควรเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องกำกับดูแล? 

คือเรามองว่าทุกอย่างมีทั้งด้านบวกและด้านลบ เหมือน "มีด" น่ะล่ะ จะใช้ฆ่าคนหรือจะใช้ผ่าตัด? ปัญหามันอยู่ที่การกำกับดูแล การสอดส่อง และปรับเปลี่ยนตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป

-

องก์ที่สาม เป็นการพูดถึงหลากหลายเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการถูกจับกุมตัวและการต่อสู้ในทางกฎหมาย เช่น ผู้ชนะรางวัลโนเบลที่ถูกเนรเทศจากประเทศบ้านเกิด นักข่าวชาวพม่าที่ถูกจับกุม เพราะรายงานข่าวเรื่องการสังหารชาวมุสลิม cambridge analytica ก็มีบทบาทในเรื่องราวขององก์นี้ด้วย รวมทั้งการประกาศสงครามยาเสพติดของ Rodrigo Duterte ที่เราอ่านแล้ว ก็ อืม ก็ดูเด็ดขาดรุนแรงดี ถ้าคนที่ถูกจับกุมหรือฆ่าตัดตอนเป็นพ่อค้ายาจริง ๆ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งมันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะใช้หลักการ "ถ้าจะซ่อนใบไม้ ให้ไปซ่อนในป่า" เป็นการผสมปนเปฆาตกรรมอำพรางซะเยอะ

สิ่งที่ประทับใจมาก คือ บทบาทของเหล่าทนายความสิทธิมนุษยชน การต่อรองหลังม่าน ทีมทนายของ Amal Clooney (หรือ Amal Alamuddin) ที่ตอนประกาศแต่งงานกับดาราชื่อดังอย่าง George Clooney ก็มีคนเม้ามอยว่า ใครไม่คู่ควรกับใครกันแน่ เพราะ Amal เป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง และทำงานในหลากหลายคดีที่เป็นการช่วยเหล่านักข่าว นักเคลื่อนไหวทั่วโลก นอกเหนือจาก Maria เรื่องราวตรงนี้ก็น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนสายอาชีพนี้อีกมากเลยล่ะ

ทิ้งท้าย ด้วยสิ่งที่ Maria สะท้อนออกมาจากการสูญเสียเพื่อนรักจากโรคมะเร็ง 

"ทำไมเรายังคงต่อสู้อยู่ทั้ง ๆ ที่ก็รู้อยู่แล้วว่าการพ่ายแพ้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้?"

"เหตุผลเพียงข้อเดียวก็คือ เราจะไม่ยอมแพ้โดยปราศจากการต่อต้าน"

Maria เปรียบเทียบประชาธิปไตยเหมือนกับวงออเคสตร้า โดยบทเพลงหรือโน้ตดนตรีเปรียบเสมือนระบบ แต่การเล่นจะเล่นแบบไหน ใส่อารมณ์แนวไหน ใครตาม ใครนำ ก็ขึ้นอยู่กับนักดนตรีเอง

บทสรุปของชื่อหนังสือที่ว่า "เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร?" ถูกสรุปออกมาเป็น 3 ข้อ

  • ระยะยาว การศึกษาคือสิ่งสำคัญ​ ดังนั้น เริ่มวางรากฐานตั้งแต่วันนี้
  • ระยะกลาง กฎหมาย เครื่องมือในการควบคุม มาตรการในการกำกับดูแลโลกเสมือนจริง เพื่อจะส่งเสริมวิสัยทัศน์ของ Internet ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงโลกใบนี้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว มิใช่แบ่งแยก
  • ระยะสั้น การทำงานร่วมกัน ณ เวลานี้ เดี๋ยวนี้ ซึ่งต้องตั้งต้นด้วยความเชื่อใจกันและกัน

-

#ตะกอนความคิด หลังจากอ่านจบ "ความขัดแย้งในสังคม" เป็นเรื่องปกติมั้ยนะ? คือคนร้อยพ่อพันแม่มาอยู่ด้วยกัน จะคาดหวังให้คนทั้งหมดมีความเห็นไม่ขัดแย้งกัน มันเป็นการคาดหวังที่แน่ใจได้ว่าจะต้องผิดหวัง คนที่เรียกร้องการรัฐประหาร เพราะประเทศวุ่นวาย เถียงกันไม่รู้จบ คนเหล่านี้ ไม่เคยเถียงกับตัวเองหรือยังไงนะ? ขนาดตัวเองคนเดียวยังมีความขัดแย้ง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่แน่ใจว่าควรจะไปทางไหน แล้วจะคาดหวังให้ประเทศปราศจากความขัดแย้ง มันเป็นไปไม่ได้ 

สิ่งที่ต้องมีคือ เราจะถกเถียงหรือหาจุดร่วมของความขัดแย้ง ภายใต้กติกาได้หรือไม่? 

สิ่งที่เป็นปัญหาของไทยตอนนี้คือกติกามันไม่นิ่ง มีการเปลี่ยนกติกาใหม่เรื่อย ๆ แถมผู้เล่นบางกลุ่ม ยังได้ของวิเศษที่ทำให้อยู่เหนือกติกาเหล่านั้นมากกว่า

#หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับ คนที่สนใจเรื่องการเมือง ความหลากหลายทางเพศ และเสรีภาพสื่อ อยากได้แรงบันดาลใจในการทำอาชีพด้านการสื่อสาร หรือการเป็นทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และการมีส่วนร่วมในการทำลายหรือส่งเสริมประชาธิปไตยของ social media



Kommentare

Beliebte Posts aus diesem Blog

ส่งสัมภาระเกือบ 400 กิโลกรัมจากเยอรมันกลับไทยแบบ DIY

เหรียญสองด้านของการเป็น Au pair ในต่างแดน

ลองมาทำ Résumé เก๋ ๆ ด้วย Powerpoint ดูนะคะ