Bullying การกลั่นแกล้งในโรงเรียนประจำ

 


#วันเด็ก2566 กับการกลั่นแกล้งในโรงเรียนประจำ 

ก่อนอื่นรูปประกอบไม่เกี่ยวกับเพื่อน ๆ ในรูปนะคะ เพียงแต่เป็นรูปเดียวที่มีติดอยู่ใน iPhoto เป็นตอนที่ทุกคนมานั่งเรียงถ่ายรูปกับผลงานประดิษฐ์ในโอกาสอะไรก็ไม่รู้ (ผลงานของเราคือกรอบกระจกที่สะท้อนแสง flash นี่ล่ะ กับกล่องกระดาษทิชชู่ทำจากกล่องเหล้า)

เราเคยเล่าเรื่องวัยเด็กไว้ใน blog นี้เมื่อสิบกว่าปีก่อนแล้ว แต่เห็นข่าวเรื่องการ #bullying หนาหูขึ้นเรื่อยในสื่อต่าง ๆ และเรื่อง #TheGlory ที่กำลังเป็นกระแสใน Netflix เลยขอใช้โอกาสในวันเด็กปีนี้ แบ่งปันประสบการณ์ตรงจากการโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนและวิธีที่ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มาได้อย่างไร หลาย ๆ เรื่องอาจจะเก่าไปแล้วเพราะก็ผ่านมา 30 ปีแล้วอ่ะนะ

เราเป็นเด็กนักเรียนประจำ (หรือนักเรียนกิน-นอนอยู่ที่โรงเรียน หรือเด็กหอ ก็แล้วแต่จะเรียก) ในโรงเรียนหญิงล้วนที่ประกอบไปด้วยนักเรียนแบบไปเช้าเย็นกลับตามปกติผสมกับนักเรียนประจำ (สัดส่วนนักเรียนประจำประมาณ 10% ต่อนักเรียนทั้งหมดในระดับประถม แต่ถ้าระดับมัธยม ตัวเลขจะเป็น 30%) โดยนักเรียนประจำสมัยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนที่มาจากต่างจังหวัด มีแค่ไม่เกิน 3 คนในรุ่นเราที่เป็นเด็กกรุงเทพ​ฯ (ซึ่งก็จะดูแปลกมากในสมัยนั้น ว่าทำไมอยู่โรงเรียนประจำ)

เราเข้าเรียนตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ต้องใช้ชีวิตกับคนแปลกหน้าอีกหลายร้อยคนจนถึงม. 3 ค่อยย้ายไปโรงเรียนอื่น สิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นเรื่องแรก ๆ คือการรู้ว่า

ครอบครัวตามค่านิยมปกติในสมัยนั้นคือต้องมี "พ่อและแม่"​  

จากการที่ผู้ปกครองของนักเรียนคนอื่นก้มหน้ามาถามด้วยความเอ็นดูแบบไร้เจตนาร้ายว่า "คุณพ่อคุณแม่จะมารับเมื่อไหร่คะ?"

ซึ่งเด็กที่เติบโตในบ้านที่ประกอบด้วย ลุง ป้า ลูกพี่ลูกน้องสองสาว แม่ และยาย ก็จะงง ๆ ว่ายังไงนะ? และไหนจะเรื่องงานวันพ่อวันแม่ทุกปี ที่เป็นกิจกรรมที่ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า 

"อ่อ ปกติมันต้องมีคนสองคนแบบนี้สินะ"

เรื่องราวแบบนี้ เป็นเรื่องที่จะถูกนำมากลั่นแกล้งได้ไม่ยากอยู่แล้ว สำหรับสังคมแคบ ๆ อย่างโรงเรียน คำล้ออย่าง "ลูกไม่มีพ่อ"​ หรือ "พ่อไม่รักเลยถูกทิ้ง" เป็นเรื่องปกติมาก ๆ ที่ปัจจุบัน ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ ทั้ง ๆ ที่มันควรจะเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว

และสำหรับนักเรียนประจำ และยังเป็นนักเรียนประจำที่บ้านอยู่กรุงเทพฯ ก็จะมีคำที่ใช้กลั่นแกล้งเพิ่มเข้ามาเช่น "พ่อแม่ไม่รักน่ะล่ะ ถึงได้เอามาส่งให้อยู่ที่โรงเรียน ไม่ให้อยู่บ้าน ทั้งที่บ้านก็อยู่ไม่ไกล" ซึ่งตอนนั้น คนที่พูดก็คือรุ่นพี่ที่อยู่ในโรงเรียนประจำด้วยกัน และถ้าเรามีประสบการณ์และความคิดมากกว่านี้ ก็คงจะย้อนกลับไปว่า "อือ พ่อแม่พี่ก็คงไม่รักเหมือนกันสินะ เพราะเขาก็ส่งพี่มาอยู่โรงเรียนเหมือนกัน"

ทั้งสองประเด็นข้างต้น ตรงกับชีวิตวัยเด็กก่อนสิบขวบทั้งหมด 

แน่นอนว่า เรื่องพวกนี้ เราต้องถามแม่ ซึ่งแม่ก็จะบอกว่า 

"ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง แม่มีหน้าที่หาเงินส่งฝ้ายเรียน ส่วนฝ้ายมีหน้าที่เรียนให้ดี เรียนให้เก่ง โตขึ้นจะได้หางานดี ๆ ทำ แล้วเลี้ยงตัวเองให้ได้ อย่าไปคิดพึ่งพาคนอื่น"

ดังนั้น เมื่อแม่บอกเป้าหมายในชีวิตวัยเด็กมาให้ ก็ตามนั้น 

สำหรับเด็ก ผู้ปกครองคือ "โลกทั้งใบ" ของเขานะคะ ตั้งแต่ตอนนั้น การหายใจในทุกวันที่อยู่โรงเรียนจะมีแค่สองเรื่อง คือ (1) ตั้งใจเรียน กับ (2) เก็บเงิน (เพราะเข้าใจว่าถ้าประหยัดเงินเบี้ยเลี้ยงที่ได้วันละ 10 บาท จะช่วยให้แม่ไม่ต้องหาเงินมาก และรับเรากลับไปอยู่บ้าน ดังนั้น ความไม่น่ารักของเราตอนเด็ก ๆ คืองกมากกก งกแบบไม่น่าคบอ่ะ แบบการแบ่งปันคืออะไรไม่รู้จัก มี liquid หรือปากกาสีสวย เราจะซ่อนไว้ในลิ้นชัก เพราะถ้าวางไว้บนโต๊ะ เดี๋ยวเพื่อนเอื้อมมือมาหยิบไปใช้) นอกจากนั้น การอยู่ร่วมกันในวัยเด็ก การเล่นเกมต่าง ๆ นานา ที่เป็นทีม เพื่อน ๆ ก็จะรักและชอบคนที่เล่นกีฬาเก่ง ๆ วิ่งเร็ว ดิชั้นก็ไม่มีอะไรที่เข้าข่ายสิ่งเหล่านี้เลย เพราะตัวเล็กและไม่ชอบวิ่งหรือเล่นอะไรที่เกี่ยวกับลูกบอลทั้งนั้นอ่ะ

.

พอเอาทั้งหมดมารวมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือรุ่นพี่ล้อเรื่องพวกนี้ เราก็ร้องไห้ วิ่งไปหาคุณครู และเพื่อนก็ไม่ค่อยชวนเล่น เพราะเราเล่นไม่เก่ง ก็จะไปหมกตัวอยู่ห้องสมุดอ่านหนังสือพวกนักสืบเยาวชน (ที่ชอบมากกคือ 7 สหายนักสืบของ Enid Blyton ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1949) และอื่น ๆ ที่มีในนั้นที่เด็กพอจะอ่านรู้เรื่อง ส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมที่สนุก ก็เพราะว่าเติบโตมาในบ้านที่เห็นคุณลุงจะใส่แว่นนั่งอ่านหนังสือไป ดึงดั้งจมูกไป (เลยเข้าใจไปเองว่าการดึงดั้งจมูกบ่อย ๆ จะทำให้ดั้งโด่ง เพราะคุณลุงจมูกโด่ง) ส่วนคุณป้าจะนอนอ่านนิยายบนเตียงไม้สัก และชอบหลับไปกับหนังสือบ่อย ๆ คุณครูโรงเรียนประจำจะรู้กิตติศัพท์ความเป็นเด็กขี้แย ร้องไห้เก่ง ร้องบ่อย จนคุณครูต้องพาไปปลอบที่ห้องพักส่วนตัวของคุณครู เราก็จะชอบไปนั่งวาดรูป ได้ใช้สีใหม่ ๆ ที่คุณครูมี หรือบางทีให้คุณครูเล่านิทานให้ฟัง

          


แต่พฤติกรรมที่ชอบอยู่กับคุณครูก็ก่อเรื่องอีก พวกนักเรียนก็จะไม่ชอบคนที่สนิทกับครู ก็จะมาล้ออีกเป็นวงจรอุบาทว์ เพราะฉะนั้น ช่วงวัยประถมจะสนิทกับครูเกือบทุกคนที่อยู่ดูแลนักเรียนประจำ ซึ่งพอเราไม่มีเพื่อนเล่นมากนัก ก็มีเวลาในการอ่านหนังสือเยอะ แบบพอเริ่มเปิดเรียน หนังสือที่ต้องเรียน เราแทบจะอ่านจบทั้งเล่ม ตั้งแต่เดือนแรกที่เปิดเทอมแล้ว ทำให้ในหมู่นักเรียนประจำที่มีกันหลักสิบ เราถือเป็นเด็กเรียนเก่ง ที่ถึงแม้ระหว่างเทอม เพื่อน ๆ จะไม่เล่นด้วย หรือ boycott ก็ตาม แต่ช่วงสอบก็จะมาขอให้เราช่วยติวก่อนสอบอยู่ดี ใจนึงก็แค้นนะ ที่เวลาก่อนสอบไม่เห็นมาคุยด้วย แต่พอมีผลประโยชน์ก็มาหา ทีนี้ นิสัยส่วนตัวคือเป็นคนชอบสอน ชอบแบ่งปันสิ่งที่รู้ เราก็จะไม่ปฏิเสธอ่ะ ก็นั่งสอนเพื่อน ๆ ก่อนสอบ เป็นช่วงสงบศึกว่างั้น

.

การอยู่โรงเรียนประจำตั้งแต่ 6 ขวบ นั่นหมายความว่า ต้องทำกิจวัตรทุกอย่างเอง อาบน้ำ สระผม แปรงฟัน ที่ก็ไม่มีใครมานั่งดู ว่าอาบน้ำสะอาดมั้ย? แปรงฟันทั่วรึเปล่า? ก็จะจบลงที่ฟันผุเยอะไปตาม ๆ กัน แล้วทีนี้ ยังมีเรื่องเข้าห้องน้ำ ที่สมัยนั้น มีแต่ส้วมซึมนั่งยอง ๆ ไม่มีชักโครกสำหรับนักเรียน พวกรุ่นพี่ก็ชอบแกล้งเล่าเรื่องผีในห้องน้ำ ทำให้เด็กเล็ก ๆ พอปวดท้องฉี่ตอนกลางคืน ปลุกเพื่อนให้ไปด้วยแล้วเพื่อนไม่ตื่น ก็จะจบลงด้วยการฉี่รดที่นอน และโดนล้อไปอีก ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น 

.

ทั้งหมดที่เล่ามา จะเห็นได้ว่าระดับของการกลั่นแกล้งจะเป็นด้านวาจาและทางจิตใจมากกว่า ระดับต่อมาคือการทำลายข้าวของและทำร้ายร่างกาย เราเคยโดน "ตัดเสื้อผ้า" ที่แขวนตากไว้ ฉีกตุ๊กตากระดาษ เอาเสื้อผ้าไปซ่อน หรือเอารองเท้าไปทิ้งในถังขยะ แต่กรณีที่หนักที่สุดที่เราเคยเจอ (ไม่นับพวกนัดตบกัน แบบปิดห้องเรียนหลังเลิกเรียน เพราะเรื่องแฟนของเด็กโต ๆ) คือ "โดนตัดผม" น้องที่โดนแกล้งน่าจะไม่เกินประถม 3 เรายังจำชื่อและนามสกุลได้ถึงวันนี้เลย น้องหน้าตาสวยมากและผมยาว เราไม่แน่ใจว่าอะไรคือสาเหตุ แต่ตอนเช้า น้องตื่นมาบนเตียงนอนของตัวเอง พร้อมผมที่ถูกตัดแหว่งไปหมด และเศษผมกระจายเต็มเตียง แน่นอนน้องร้องไห้สะอึกสะอื้น และเวลาต่อมา คุณพ่อของน้องก็พาน้องลาออกจากโรงเรียนไป เราจำไม่ได้ว่าคนที่ก่อเรื่องได้รับผิดชอบบ้างรึเปล่าหรือยังไงต่อจากนั้น

.

เวลาที่โดนกดดันมาก ๆ มีช่วงที่เราเคยพกมีดปอกผลไม้ติดกระเป๋านักเรียนไว้ตลอด เพราะถึงแม้เราจะไม่ใส่ใจจะใช้กำลังหรืออะไร แต่ตอนนั้น มีความคิดว่า "ถ้ามีการทำร้ายร่างกายเราเมื่อไหร่ ก็ตายกันไปข้างนึง" เพราะเราหวงร่างกายมาก แบบห้ามมาจับตัวเรา แต่โชคดี ที่ส่วนมากจะเป็นแบบไม่มีเพื่อนคุยหรือล้อเรื่องอื่น ๆ ข้างต้น และก็ไม่คุ้มกัน ความรุนแรงแบบนั้น ไม่คุ้มกับการเอาอนาคตของเราไปแลก 

-

สำหรับเด็ก ๆ ที่ถูกกลั่นแกล้ง หรือแม้แต่ตอนที่โตแล้ว สังคมเรามีคนบางประเภทที่ชอบล้อ เสียดสี แดกดัน (ซึ่งอาจจะเป็นนิสัยของเขา ไม่ได้มีเจตนาร้าย แบบติดการพูดจิกกัด) เวลาที่เราทำอะไรที่แตกต่างหรือ "สะเหล่อ" เราคงจะไปบังคับหรือคาดหวังให้สังคมหรือคนรอบข้างมีจิตสำนึก ตระหนักรู้ และหยุดล้อเรื่องพ่อแม่แยกทางกัน ล้อเรื่องรูปร่างหน้าตา ล้อเรื่องฐานะทางการเงินได้ลำบาก ดังนั้น ต้องสร้างเกราะป้องกันให้ตัวเอง เราชอบ quote ในเรื่อง Game of Thrones ที่ Tyrion Lannister พูดกับ Jon Snow ในเรื่องการเป็นลูกนอกสมรสว่า 

"Let me give you some advice, bastard. Never forget what you are; the rest of the world will not. Wear it like armour, and it can never be used to hurt you."

.

เริ่มด้วยการ "อย่าไปสนใจ" ท่องไว้อย่าไปสนใจ การพูดมันก็แค่ลมปาก คำพูดของคนอื่น ไม่มีผลต่อชีวิตเรา ต่อให้คนชมว่าเราสวยเหมือนนางฟ้า ถ้าเราส่องกระจกแล้วเห็นว่า มันก็ไม่ได้ขนาดนั้น ก็เหมือนกับเวลาที่คนด่าว่าเราหน้าตาน่าเกลียดน่ะล่ะ มันก็ไม่จริงอยู่ดี อย่าไปใส่ใจหรือเก็บมาคิดเลยนะ 
.
เมื่อในหัวมีอยู่สองเรื่อง คือ เรื่องเงินกับเรื่องเรียน ซึ่งหนทางที่จะทำทั้งสองอย่างได้ คืออ่านหนังสือและเรียนให้เก่ง ทำข้อสอบให้ถูก เพื่อการมีชีวิตที่อิสระและมั่นคง ดังนั้น การเป็นคนดี น่ารัก พูดจาเพราะ มีเพื่อนเยอะ ๆ ไม่อยู่ในสมการของเราเลย เรามองว่า "คนที่อายุเท่ากัน คบไปก็ไม่เห็นจะได้ประโยชน์อะไร อยู่กับคุณครูยังได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มากกว่า" ทำให้พอเพื่อนไม่ชวนเล่น เราก็ไม่แคร์ไง เพราะเสียเวลาชีวิต อย่ากังวลกับจำนวนเพื่อนเลย จำนวนไม่ได้สำคัญ แต่คุณภาพของคนสำคัญกว่า และพยายามอยู่คนเดียวให้ได้ในยามจำเป็น

.

อยากให้ใช้เวลาที่ทรมานนี้ให้เกิดประโยชน์ อะไรที่ไม่ช่วยเสริมให้ชีวิตมันดีขึ้น ก็ไม่ต้องใส่ใจ คนพวกนี้มีปมด้อยบางอย่าง ถึงต้องการกดคนอื่นให้ต่ำ ให้รู้สึกว่าตัวเองดีกว่า อยากให้พยายามฟังแบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไป ชีวิตเราไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลงตามคำพูดของเขา ใช้เวลาที่ถูกปล่อยให้อยู่คนเดียว มาหาตัวตนของเรา ทำสิ่งที่ชอบ คนที่ toxic ก็ไม่ต้องไปเสียดาย โลกใบนี้กว้างใหญ่ มีคนหลากหลายมากมาย อย่าไปแคร์กับสังคมแคบ ๆ อย่างโรงเรียนหรือกลุ่มคนที่ไร้ประโยชน์และชอบทำร้ายจิตใจเราเลยค่ะ

.

สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ เลี้ยงเดี่ยว หรือครอบครัว non-binary บอกเลยว่า เด็ก ๆ อ่ะไม่สนใจหรอกนะ ว่าในบ้านที่เขาอยู่ประกอบด้วยคนกี่คน เพศสภาพแบบไหน ตราบใดที่พวกเขารู้สึกว่า "ได้รับความรัก ความเอาใจใส่ และมีที่ปลอดภัยให้เขากลับไปหา" เพราะฉะนั้น อย่ากังวล หรือแบบ "เราต้องทนอยู่เพื่อลูก"​ เพราะการอดทนเพื่อลูกที่ว่า แล้วทะเลาะกันให้ลูกเห็นหรือรับรู้บรรยากาศตึงเครียดแบบนั้น จริง ๆ แล้วมันเป็นการทำเพื่อลูกหรือทำเพื่อตัวเองกันแน่? 

ทำใจให้เข้มแข็ง แล้วเดินออกมา สร้างทางเลือกชีวิตที่อาจจะดีกว่าหรือแย่กว่า แต่เป็นสิ่งที่คุณตัดสินใจเลือกเอง เพราะอย่าลืมว่า "ลูก" ของคุณไม่มีสิทธิเลือกพ่อแม่หรือผู้ปกครองเองนะคะ

.

สำหรับผู้มีอำนาจ ผู้ใหญ่บางคนบอกว่า "จะไปทำให้เป็นเรื่องใหญ่ทำไม? ชีวิตในโรงเรียนแป๊บเดียวเอง เดี๋ยวเด็ก ๆ มันก็ลืมไปเองล่ะ" ก็อยากจะบอกว่า "เวลา" ของคนเราไม่เท่ากัน และคนที่โดนแกล้ง เวลาหนึ่งเดือน ก็เหมือนกับหนึ่งปี  ดังนั้น #โครงสร้างหรือมาตรการป้องกัน ต่าง ๆ ทางสังคมเป็นสิ่งจำเป็นมากก เด็กบางคน ความเข้มแข็งทางจิตใจต่างกัน หรือ อาจจะไม่มีที่ให้หลบภัย แบบที่เราพอจะมีคุณครูให้ไปหาหรือห้องสมุดให้ไปฝังตัว เราไม่มีคำตอบให้ว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่โรงเรียนควรมีมาตรการเชิงรุกมากกว่าการรอให้เรื่องมันบานปลาย แล้วค่อยมาหาคนทำผิด แล้วยิ่งตอนนี้ การกลั่นแกล้งไม่ได้จำกัดอยู่ที่โลกจริงเท่านั้น ยังมี #cyberbullying ที่เป็นหลุมดำ ทำร้ายจิตใจเด็ก ๆ อย่างรุนแรง การป้องกันจะต้องขยายขอบเขตมากขึ้นไปอีก

.

อยากให้ #วันเด็กแห่งชาติ ในทุก ๆ ปี นอกจากเฉลิมฉลองให้เด็ก ๆ และให้คำขวัญวันเด็ก (ที่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร? คือให้มาทำไมนะ?) แล้ว ควรเป็นวันที่เหล่าผู้มีอำนาจทบทวนว่า "เราดูแลอนาคตของชาติได้ดีพอแล้วหรือยัง?" และจะยิ่งดีไปกว่านี้ ถ้าทุก ๆ วันเป็นวันที่คิดถึงอนาคตของเด็ก ๆ ไม่ใช่แค่วันเดียวในหนึ่งปี





Kommentare

Beliebte Posts aus diesem Blog

ส่งสัมภาระเกือบ 400 กิโลกรัมจากเยอรมันกลับไทยแบบ DIY

เหรียญสองด้านของการเป็น Au pair ในต่างแดน

ลองมาทำ Résumé เก๋ ๆ ด้วย Powerpoint ดูนะคะ