๖ สัปดาห์แห่งการเอาตัวรอด


อาการซึมเศร้า ร้องไห้ และพยายามจะไปแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ดำเนินไปอยู่ 3 วัน ช่วงนั้น คุณแม่ก็เป็นห่วงมาก ว่าจะอยู่ยังไงคนเดียวตั้ง 6 สัปดาห์ ก็บอกให้บินกลับมาไทย แต่เราก็ไม่เห็นด้วยนะ เพราะจะขึ้นเครื่องบินก็ยุ่งยากอีก

จากนั้น ก็เริ่มได้สติ นึกถึงคำพูดที่พี่เอ็ดดี้ หรือ Aston27 เขียนไว้บ่อย ๆ (อาจจะไม่เป๊ะ ๆ นะคะ) ว่า 


“เวลาอกหักแล้วเศร้านั้น ใคร ๆ ก็เป็น แต่สำหรับนักภาวนาเก่ง ๆ เศร้า 3 วัน ก็นานเกินไปแล้ว” 

เราก็เริ่มคิดได้ว่า เรื่องมันเกิดแล้ว ตอนนี้แก้ไขอะไรไม่ได้ สิ่งที่เราต้องกังวลและหาทางแก้ปัญหาอันดับแรกคือเรื่องปากเรื่องท้อง จะกินยังไง?

ในเมื่อเดินไม่ได้ ดังนั้น การไปจ่ายตลาดเอง ก็คงลืมไปได้เลย สั่งอาหารมากิน ก็ทำไม่ได้ตลอด แล้วแพงด้วย เงินสดติดบ้านก็มีไม่เยอะ จะออกไปกดเองก็ไม่ได้อีก จะฝากเพื่อนบ้านซื้อ ก็เกรงใจ แถมเพื่อนบ้านก็เป็นคนชรา วัยเกษียณทั้งนั้น จะให้เค้าคอยไปจ่ายตลาดให้เราก็กระไรอยู่ ตอนนั้นก็นึกได้ว่า ยุคนี้ทุกอย่างมี online หมดและ delivery ถึงบ้าน ดังนั้น มันต้องมี supermarket ที่ยินดีส่งของสดถึงบ้านแน่นอน ก็ลอง search หาดูใน internet แล้วก็เจอ mytime ที่ส่งของสดถึงบ้าน --- ในที่สุดก็รอดตายเรื่องของกิน

เมนูช่วงนั้นก็จะเน้นอาหารที่ไม่ต้องไปยืนทำ แต่รอให้มันทำเอง เช่น อาหารประเภทนึ่งทั้งหลาย ประกอบด้วย ปลา ผัก และทุกอย่างที่นึ่งได้ แล้วก็ Müsli หรืออาหารนก ทานกับโยเกิร์ตและผลไม้สด เช่น กล้วย แอปเปิ้ล และตระกูลเบอร์รี่ทั้งหลาย อาหารว่างก็จะเป็น smoothie ปั่นกับอโวคาโด แครอท หรืออื่น ๆ ที่หาได้

ตอนนี้ก็เริ่มสนุกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือสนุกกับการหาวิธีแก้ปัญหาน่ะค่ะ เพราะพอเริ่มหาทางออกได้แล้ว ฝ้ายก็รู้สึกว่า ไม่ยาก ๆ และเริ่มมีกำลังใจในการจัดการกับปัญหาต่อไป

เรื่องพื้นฐานที่สองคือการอาบน้ำ โชคดีที่ยังเป็นตู้อาบน้ำ ไม่ใช่อ่าง ไม่งั้นคงได้ซักแห้งตลอด 6 สัปดาห์ -_- 
ที่น่าโมโหคือ ชุดฝักบัวของบ้านนี้หรูมาก แบบมีฟังก์ชั่นน้ำฝนไหลลงมา มีแบบนวดตัวสี่จุดจากผนังตู้อาบน้ำ หัวฝักบัวก็ปรับให้ระดับการนวดที่แรงเบาต่างกัน น่าเสียดายที่ทั้งหมดทั้งมวลนี่ ไม่มีวาสนาได้ใช้ให้คุ้ม การอาบน้ำแต่ละครั้ง ก็ค่อนข้างทุลักทุเล เพราะต้องลงไปนั่งที่พื้นตู้อาบน้ำ และคอยยกขาสูงไม่ให้น้ำเข้าไปในเฝือก อาบเสร็จเหงื่อออกทันที เพราะต้องเกร็งตัวตลอดการอาบน้ำ ดังนั้น เราจะอาบน้ำเฉพาะเวลาที่ต้องออกไปหาหมอ หรือมันเกินทนจริง ๆ ก็ประมาณอาทิตย์ละครั้ง จะถี่กว่าเดิมก็ตอนช่วงมีประจำเดือน เพราะไม่ไหวจะเคลียร์จริง ๆ



เรื่องความสะอาด การทำความสะอาดบ้านก็ลืมไปได้ ซึ่งก็รวมถึงซักผ้าด้วย เพราะเครื่องซักผ้าอยู่ห้องใต้ดิน การจะเดินลงบันไดพร้อมแบกตะกร้าผ้าลงไปด้วยนี่ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สุดท้ายคือเรื่องเอาขยะสดไปทิ้ง ที่ยังไงก็ต้องทำอาทิตย์ละครั้ง ไม่งั้นกลิ่นจะตลบอบอวลมาก เพราะห้องพักเป็นแบบ studio เราก็ต้องแบกถุงขยะที่ต้องการทิ้งลงบันได ซึ่งวิธีการลงบันไดพร้อมถุงขยะและไม้เท้าก็คือการค่อย ๆ ถัดตัวลงทีละขั้น จากนั้นเดินต่อด้วยไม้เท้า พร้อมหนีบถุงขยะไปด้วย ที่ทิ้งขยะก็ต้องเดินขึ้นบันไดไปอีก 3 ขั้น กว่าจะเสร็จกระบวนการนี้ เล่นเอาเหงื่อออกทั้ง ๆ ที่ อากาศตอนนั้น อยู่แถว 0 องศา


โอเค ตอนนี้จัดการกับเรื่องจำเป็นพื้นฐานได้ค่อนข้างดี กลับมาจัดการเรื่องที่สำคัญอีกสองเรื่องคือ


หนึ่ง - หาหมอและฉีดยา

คลินิคของหมออยู่ไม่ห่างจากบ้านฝ้ายมากนัก แค่ 3 ป้ายรถเมล์ แต่เรื่องที่ยากคือการเดินจากบ้านไปป้ายรถเมล์ที่ประกอบด้วยทางเดินเท้าประมาณ 700 เมตรและหิมะสองข้างทาง พร้อมพื้นที่บางส่วนเป็นน้ำแข็ง ที่แค่เดินปกติไม่ให้ลื่นก็ยากอยู่แล้ว เดินพร้อมไม้เท้าจึงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงถึงสูงมาก

เราไปหาหมอทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรก ตัดสินใจเรียก taxi ไป พอจะเดินเข้าคลินิค ก็ดันมีบันไดเตี้ย 2 ขั้น ที่เราก็พยายามหาวิธีขึ้นที่ปลอดภัยอยู่ ก็มีผู้ชายสองคนผ่านมาเห็นและช่วยหิ้วปีกขึ้นมา พร้อมทั้งบอกว่า มันมีทางขึ้นสำหรับล้อเข็นอยู่อีกด้านนะ เราจะได้ไม่ต้องมาปีนบันไดเอง --- หนูไม่รู้อ่ะ ไม่เคยมา taxi ส่งตรงไหน ก็ลงตรงนั้นแหละ

หมอก็ตรวจทั่วไปแล้วบอกว่าทุกอย่างดูดี แค่ต้องอยู่นิ่ง ๆ 4 สัปดาห์ แล้วค่อยมาหาหมอใหม่ ระหว่างนี้ หมอก็บอกว่าให้ฉีดยาเป็นประจำนะ ก็ลองกลับมาฉีดยาเอง เอ่อ...ทุกคนรู้มั้ยคะ ว่าฉีดยาด้วยตัวเองมันไม่ง่ายเลย มันดูเหมือนแค่จิ้ม ๆ เข็มเข้าไปใช่มั้ยคะ? แต่มันจิ้มแล้ว มันไม่ลงไปในเนื้ออ่ะ -_- พอพยายามกดลงไปอีก ทีนี้เข็มเบี้ยวเลย ต้องเปิดใช้เข็มใหม่ กว่าจะจิ้มลงมันต้องออกแรงจิ้มนะคะ แอบเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ

แต่พอเล่าให้พี่สาวที่เป็นคุณหมอฟัง พี่เค้าก็บอกว่า ไม่ต้องฉีดหรอก ฉีดทำไม มันเวอร์เกินไป เพราะฝ้ายก็ยังขยับตัวไปทำอาหาร ไปอาบน้ำ เข้าห้องน้ำได้เอง ที่ไทยเค้าจะให้ยาแบบนี้กับคนไข้ที่ต้องนอนอยู่บนเตียงเท่านั้นค่ะ เราก็เลยฉีดไปอีกครั้งสองครั้งแล้วก็ไม่ฉีดแล้วอ่ะ

พอครบ 4 สัปดาห์ก็ภาวนาว่าขอให้ได้ถอดเฝือกจะได้เตรียมเรื่องหาบ้านพักที่ Stuttgart ซะที เพราะจะเริ่มงานเดือนธันวาแล้ว คราวนี้กำลังใจเริ่มมา ก็ตัดสินใจ ไม่ขี้น taxi แล้ว งก เปลืองเงิน (แต่ไม่ฉลาดเลย) จะออกไปขึ้นรถเมล์ เราก็ดูตารางรถเมล์ แล้วเตรียมออกเดินทาง โดยวางแผนว่า 700 เมตร ต้องเดินด้วยไม้เท้าให้ได้ใน 1 ชั่วโมง ใส่เสื้อโค้ทพร้อม ขาที่ใส่เฝือกก็ห่อด้วยถุงเท้าอีก 3 ชั้น เพราะใส่รองเท้าไม่ได้ หน้า ผม หมวก พร้อมก็ออกเดินทาง วันนั้นโชคดีที่หิมะไม่ตก และบนทางเท้าก็ไม่มีหิมะ มีแต่สองข้างทางเท่านั้น เราก็ค่อย ๆ เดินทีละก้าว ซึ่งแต่ละย่างก้าวใช้พลังงานเยอะมาก เหงื่อออกท่วมตัวเลย แทบจะอยากถอดเสื้อโค้ทออก แต่ก็ไม่สะดวก ก็อดทนเดินต่อไป จนถึงป้ายรถเมล์ พอคนขับเห็นเรา ก็กดเอียงตัวรถเพื่อให้เราก้าวขึ้นง่าย ๆ แล้วคนแถวนั้น ก็ช่วยพยุงเราขึ้นรถด้วย แล้วก็รอจนเรานั่งที่แล้วถึงออกรถ

พอไปถึง หมอบอกว่ากระดูกยังไม่ติดดีนะ ให้กลับมาใหม่อีก 2 สัปดาห์ T_T เศร้าเลย

ขากลับก็มารอขึ้นรถเมล์ ทีนี้ ต้องข้ามถนนด้วยเพราะตอนขามา ป้ายอยู่ฝั่งเดียวกับบ้าน แต่ขากลับต้องข้ามกลับมา โชคดีที่มีทางม้าลายพร้อมไฟเขียวไฟแดง เราก็เดินช้า ๆ จนไฟมันเขียวแล้ว แต่รถเค้าก็รอให้เราเดินขึ้นฟุตบาทก่อนถึงค่อยออกตัว ก็สรุปว่า รอดไปอีกวันหนึ่ง


สอง - การขอ work permit

การขอ work permit ปกติแล้วจะใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ ซึ่งต้องไปยื่นเรื่องด้วยตัวเอง เราคงทำไม่ได้แน่ ๆ ก็เลยโทรไปหาเจ้าหน้าที่ Ausländerbehörde ของเขต Wandsbek เป็นการติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เราประทับใจที่สุด และเป็นมิตรมากที่สุดเท่าที่เราเคยเจอมา เราก็เล่าให้เค้าฟังเรื่องที่เราเดินทางไม่ได้ เพราะกระดูกหัก แต่ต้องการเดินเรื่องขอ work permit ไว้ก่อนที่จะหายดี เธอก็บอกว่าให้เพื่อนถือมาให้ก็ได้นะ เราก็เลยโทรไปหาเพื่อนคนไทยที่อยู่ที่นี่ ให้มาช่วยดำเนินการให้ ชีมาหาเราพร้อมข้าวสาร 5 กก. :D รักนางมาก ณ จุดนี้ เพราะนางต้องแบกข้าวเดินมาบ้านเราด้วยระยะทางเกือบหนึ่งกิโลเมตรจากสถานีรถไฟ พร้อมของกินเล็ก ๆ น้อย ๆ และก็เป็นธุระเอาเอกสารเราไปเดินเรื่องให้ โดยเอาไปยื่นในวันที่ 29/10/12

สรุปว่า ผ่านไป 8 วัน ชีวิตที่ดูยุ่งเหยิง ก็เริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทาง (ไม่นับว่าต้องเดินด้วยไม้เท้าอ่ะนะ) และก็พร้อมที่จะสู้ต่อในเมือง Stuttgart ... to be continued




ช่วงเก็บตก:

  • เคยพูดกับหม่าม้าไว้ว่า บ้านหลังนี้ เช่ามาแทบไม่ค่อยได้อยู่ เพราะตั้งแต่ย้ายเข้าบ้านปลายเดือนกันยา ก็ออกเดินทางตลอด ตอนนี้เลยได้อยู่ยาวเลย -_-
  • ข้อดีอีกอย่างคือมีเวลาอ่านหนังสือเยอะมาก นี่คือหนังสือที่เราอ่านจนปรุช่วงจำศีล
  • เรื่องที่น่าตลกก็คือ พอเราเท้าหัก เราก็โพสต์รูป x-ray ลงใน facebook เพื่อน ๆ และญาติพี่น้องที่ไทยก็ต่างให้กำลังใจกันใหญ่ และอย่างที่เคยบอกไปว่า เพื่อนสนิทคนเยอรมันของเราเป็นพวกต่อต้าน social media ไม่ชอบเอารูปลง facebook ไม่รับโทรศัพท์ ถ้ายังไม่อยากคุยกับใครตอนนั้น ไม่ชอบที่ประเทศตัวเองมีกล้องวงจรปิดอยู่เกือบทุกจุดในสถานีรถไฟ ฯลฯ ทำให้ตอนที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น คนที่อยู่ใกล้ตัวฝ้ายแทบไม่รู้เรื่องเลย ฝ้ายต้องไล่โทรไปหา แล้วบอกว่าป่วย มาเยี่ยมด้วยนะ (เอาแต่ใจเนอะ จริง ๆ ต้องให้เค้ามาเอง) แต่นี่คาดว่าหากรอให้พวกมันโทรมาหา เท้าฝ้ายคงจะหายดี เดินได้ไปแล้วล่ะ หลังโทรไปแจ้งข่าว ก็ทยอยเสด็จมาหา แล้วเอาของกินมาให้ (สำคัญมาก อิอิ)
  • ตอนเราเข้าไปเอา work permit ที่ Ausländerbehörde พร้อมไม้เท้า เจ้าหน้าที่เค้าก็แซวว่า “เฮ้ ยังไม่ถึงฤดูเล่นสกีเลยนิ ทำไมคุณเข้าเฝือกแล้วล่ะ” --- นะ ขอบคุณมากสำหรับคำทักทายที่โคตรสร้างสรรค์
  • จริง ๆ แล้วอายมากนะ เวลาที่คนถามว่าไปทำอีท่าไหนเท้าถึงหัก แล้วคำตอบคือ “ตกเตียง” -_-
    ตามาเทียสแนะนำว่า ให้แต่งเรื่องไปว่าไปช่วยเด็กน้อยไม่ให้ถูกรถชน แล้วตัวเราโดนรถทับเท้าแทน ทำนองนี้ จะได้เล่าได้อย่างภูมิใจมากกว่า เหรอ? มันใช่เรื่องมั้ย?
  • ทั้งหมดทั้งมวลตลอดการรักษานี้ นอกจากค่าธรรมเนียม 10 ยูโร และค่าไม้เท้าที่ช่วยประกันออก 5 ยูโร ก็ไม่ได้ต้องควักเงินจ่ายอะไรอีก เพราะประกันสุขภาพดูแลหมด --- นี่สินะ ที่เค้าบอกว่าจ่ายเงินไปแล้วทุกเดือนต้องใช้ให้คุ้ม
  • ได้ของขวัญปลอบใจเป็น iPhone 5 --- เครื่องแรกในชีวิต เพราะปกติใช้สองรุ่นนี้อยู่




ปิดท้ายบทนี้ด้วย
 
ทุกปัญหามีทางออก อยู่ที่ว่าเราพยายามหามันรึเปล่า
หรือมันแต่คร่ำครวญ โทษโน่นโทษนี่ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด 
เลิกสงสารตัวเอง แล้วแก้ปัญหาซะ!!!



Kommentare

Beliebte Posts aus diesem Blog

ส่งสัมภาระเกือบ 400 กิโลกรัมจากเยอรมันกลับไทยแบบ DIY

เหรียญสองด้านของการเป็น Au pair ในต่างแดน

ลองมาทำ Résumé เก๋ ๆ ด้วย Powerpoint ดูนะคะ